2 กมธ.วุฒิจัดถกสิทธิ์ประชาชนพิทักษ์รัฐธรรมนูญ “สมเจตน์” อัด พท.-ชทพ. เสนอแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ตัวเอง ลั่นแก้สันดานนักการเมืองดีกว่า ...
วันที่ 29 มิ.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้จัดเสวนา “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย” โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา กระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้มีแต่ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย ไม่เหมาะต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เชื่อว่าเหตุผลของนักการเมืองที่ต่ำกว่ามาตรฐานจะช่วยแก้ไขปัญหาประชาชน และประเทศชาติได้ เมื่อพิจารณาตัวร่างแก้ไขที่พรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเสนอ ไม่ให้มีการยุบพรรคการเมือง เป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนเอง เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 พรรคมีความเจ็บปวดในเรื่องยุบพรรค จึงต้องการแก้ แต่ตนยังยืนยันว่าไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญควรแก้ที่สันดานของนักการเมืองเองจะดีกว่า และการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อตอบสนองตัณหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เท่านั้น
นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน (ครส.) กล่าวว่า กรณีที่ตนไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเจตนาขัดขวาง แต่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ถูกต้องส่วนที่ฝ่ายนักการเมืองโต้ แย้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองเพราะในมาตรา 291/11 ระบุชัดเจนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ แต่ในข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ เพราะข้อกำหนดดังกล่าวถูกเขียนไว้ในมาตรา 291(1) วรรคสองอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เขาเขียนขึ้นมาเพื่อแก้เกี้ยวเท่านั้น ซึ่งมาตรา 291/11 ที่เขียนไว้ยังถือว่าไม่ครอบคลุมไปถึงได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ คือ มาตรา 68 ดังนั้น การอ้างว่ามีมาตรา 291/11 เพื่อเป็นการป้องกันการล้มล้างข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ ทั้งนี้ ใน วันที่ 5 ก.ค. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะนำสืบพยานนั้น ตนจะชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำไม่ได้ และจะชี้ให้เห็นว่าผู้สมคบคิดในการล้มล้างรัฐธรรมนูญมีความผิดอย่างไร
นายวรินทร์ เทียมจรัส หนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาในแง่ของการตีความตามบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในเรื่องใดๆ ต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนหรือไม่ โดยมีฝ่ายนักนิติศาสตร์ที่ขายตัวได้แปลความหมายตามหลักอักษรศาสตร์ มาอยู่เหนือหลักนิติศาสตร์จึงทำให้เกิดการแปลความหมายของคำตามอำเภอใจ ขอฝากการบ้านต่อประชาชนว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะพิจารณาให้อัยการ และอัยการสูงสุด เป็นกรมอัยการเหมือนเดิม เพราะขณะนี้อัยการทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่ายบริหารไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในฐานะผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ประเด็นที่อัยการระบุว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยตรงยืนยันว่า ประชาชนมีสิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ และอัยการไม่มีศักดินา หรือฐานันดรอื่นใด นอกเหนือจากเป็นทนายความของแผ่นดิน
นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้าน กฎหมายรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่ามีคำถามว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับ โดยเฉพาะฉบับปี 2540ที่ให้อำนาจรัฐสภาสามารถแก้ไขได้ เป็นเพราะประชาชนทุกคนยินยอมให้มีการแก้ไขแต่สาเหตุการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหา เพราะประชาชนยังมีความเห็นต่างในทางวิชาการทั้งนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ก็มองว่าหากทำไปจะมีแต่ความแตกแยก ทางที่ดีที่สุดคือให้ชะลอไปก่อนและไปทำความเข้าใจกับสังคมให้เกิดความเห็นพ้อง จนกว่าจะปรองดอง จึงจะสามารถแก้ไขได้
ด้าน นายคมสัน โพธิ์คง อดีต ส.ส.ร.2550 กล่าวว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญต้องกำจัดนายทุนที่ครอบงำพรรคการเมืองออกไปก่อน พร้อมทั้งหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมต้องแก้ไข จะมาอ้างรัฐประหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ล้วนเกิด จากการรัฐประหารทั้งนั้น ที่สำคัญต้องถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับแก้ไขหรือไม่ไม่ใช่อ้างว่าได้เสียงจากการเลือกตั้ง จะทำอะไรก็ได้ตนฟังธงไว้เลยว่า หากปล่อยให้มีการแก้ไขไปเช่นนี้ ก็อาจมีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประเป็นประมุข รวมทั้งล้มระบบการตรวจสอบนักการเมือง อาทิ ป.ป.ช. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงระบบราชการ การยุบพรรคยกเลิกส.ว.สรรหา โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 309เพื่อให้นายทุนที่อาศัยคราบนักการเมืองมาครอบงำประเทศ จึงอยากถามประชาชนว่าต้องการอย่างนี้ใช่หรือไม่.
...