การปรับโผ “ครม.เศรษฐา 1” เมื่อวันจันทร์ ฝุ่นตลบกันทั้งวันกว่าโผจะลงตัวในช่วงดึก โดยเฉพาะ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเปลี่ยนตัว รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หลายรอบ รอบแรกเป็น ม.ล.ชโยทิต กฤดากร รอบสองเป็น คุณพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ล่าสุดเป็น คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล โยกจากเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และมีชื่อ คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่จะเกษียณอายุ 30 กันยายนนี้เป็น รัฐมนตรีช่วยคลัง ในโควตากลางของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากที่ยกเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหม ให้ คุณสุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย

รายชื่อ คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 ล่าสุด ดูแล้วค่อนข้างสะเปะสะปะ การแบ่งกระทรวงก็แบ่งตามโควตา สส.แต่ละพรรคตั้งรัฐมนตรีกันเอง จะเป็นสีขาวสีเทาอะไร นายกฯเศรษฐา ก็ไม่มีสิทธิคัดค้าน หลายกระทรวงอยู่ในสภาพที่ “ผิดฝาผิดตัว” เช่น คุณสุทิน คลังแสง อาชีพครูแต่ถูกจับไปเป็น รัฐมนตรีกลาโหม คุมกองทัพไทยทั้งประเทศ รับผิดชอบความมั่นคงของชาติ เป็นต้น

มีข่าวหนาหูว่า รายชื่อคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 ส่วนใหญ่มาจาก “ผู้มีบารมีเหนือพรรค” ที่ไม่เปิดเผยตัว เป็น a man behind the scene เช่น พรรคเพื่อไทย ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า มี “นายใหญ่” เป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรค พรรคภูมิใจไทย ก็มี “ครูใหญ่” เป็นผู้มีบารมีเหนือพรรค นี่คือการเมืองแบบไทยๆที่ไม่เหมือนใคร การเจรจาแบ่งโควตากระทรวงการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ปรับโผกันวุ่นวาย นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง มีคณะทำงานเจรจาต่อรอง นายกฯเศรษฐาเพียงแต่รับทราบเท่านั้น ค่ำวันจันทร์ช่วงที่กำลังปรับโผกันฝุ่นตลบ คุณเศรษฐา ยังโพสต์ภาพไปดินเนอร์กับนักธุรกิจกลุ่มใหญ่ ไม่ได้ปวดหัวไปกับการปรับโผรัฐมนตรีด้วย

...

เห็นภาพการจัด ครม.แบบนี้แล้ว ผมก็นึกถึง “รัฐบาลเงา” และ “คณะรัฐมนตรีเงา” ของอังกฤษขึ้นมาทันที การฟอร์มรัฐบาลเศรษฐา 1 ก็เช่นเดียวกัน หลายพรรคมีผู้มีอำนาจตัวจริงอยู่เบื้องหลังการฟอร์มคณะรัฐมนตรี เช่น พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ไม่มีพรรคไหนยอมรับว่ามี การเมืองไทยจึงมีความซับซ้อนทำให้เกิดความโปร่งใสยาก

คณะรัฐมนตรีเงา หรือ Shadow cabinet ของประเทศอังกฤษ จะเป็นคณะรัฐมนตรีของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทน โดยมี ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นนายกรัฐมนตรีเงา และมีการแต่งตั้ง รัฐมนตรีเงากระทรวงต่างๆ เพื่อประกบ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงตัวจริง เกาะติดการทำงานและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐมนตรีตัวจริง เป็นการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลโดยตรง ถ้าฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล รัฐมนตรีเงาก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตัวจริง การทำงานของรัฐมนตรีเงาอังกฤษ จึงทำงานกันจริงจังมาก ใครที่เคยดูการอภิปรายในสภาอังกฤษ จะเห็นว่าสองฝ่ายอภิปรายกันดุเดือดมาก

แต่ คณะรัฐมนตรีเงาแบบไทยๆ ต่างจากคณะรัฐมนตรีเงาอังกฤษ คณะรัฐมนตรีเงาของไทย ไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่พรรคเดียวกัน ซึ่งเป็นผู้มี “บารมีเหนือพรรค” หรือเป็น ผู้นำจิตวิญญาณของพรรค บางพรรคก็เรียกกันว่า “ครูใหญ่” เป็นสมาชิกพรรคธรรมดา แต่มีอำนาจไม่ธรรมดา ผู้มีบารมีเหนือพรรคอีกกลุ่มก็คือ “นายทุนใหญ่พรรค” ที่เข้าไปมีบทบาทในพรรค ดังนั้นโอกาสที่ประเทศไทยจะมี “รัฐบาลในฝัน” จึงเป็นไปได้ยาก

“รัฐบาลเศรษฐา 1” ชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่บริหารให้เป็นทีมเดียวกันยาก เพราะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และ มีผลประโยชน์ซ่อนเร้นสูงมาก ทั้งยังต้องบริหารตามนโยบายของคนในพรรคอีก ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจ นายกฯเศรษฐา ไว้ตรงนี้ ขอให้บริหารประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่ง 4 ปีครับ ที่สำคัญต้องสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งต่อคนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าสภาพรัฐบาลจะเป็นแบบไหนก็ตาม.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม