แล้วก็มาถึงวันที่ “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” ว่าที่ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อ “อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยว่า “หมอชลน่าน” เตรียมลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยวันนี้ ตามที่ลั่นวาจาไว้ตอนหาเสียง ส่วนตัวเสียดายคนเก่ง จ่อเลือก กรรมการบริหารพรรคใหม่ใน 60 วัน มอง “กิตติรัตน์-นพดล” เหมาะ
ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ ครม.ชุดใหม่ แค่เล่นเก้าอี้ดนตรี มอง “หมอชลน่าน” ลาออก แค่ไปรับตำแหน่งที่ใหญ่กว่า ไม่ใช่เสียสละ
...
ประวัติ หมอชลน่าน ศรีแก้ว
“หมอชลน่าน” เกิด 4 มิถุนายน ปี 2504 ชื่อเล่น “ไหล่” เป็นอดีต รมช.สาธารณสุข สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วีรกรรมของ “หมอชลน่าน” เป็น 1 ในตัวจักรสำคัญในการตั้ง รัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ทำให้คนในโลกโซเชียลมีเดียจดจำ คือ การประกาศว่า พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค 2 ลุง “รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ” ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 หากมีพรรค 2 ลุงมาร่วม จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เจ้าตัวเกิดท่ีตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นบุตรของ นายใจ และ นางหมาย ศรีแก้ว สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2529 (ร่วมรุ่นกับ นายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมเขต 3 ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ นายแพทย์ชลน่าน จบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2542
ด้านชีวิตส่วนตัว เขาใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ แพทย์หญิงนวลสกุล บำรุงพงษ์ โดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรธิดา 2 คน
เคยเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา-ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2543 ต่อมาได้เข้ามาทำงานการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดน่าน สังกัดพรรคไทยรักไทย
ประวัติงานการเมือง
ปี 2547 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปี 2548 เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) นอกจากนั้นแล้ว เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในระยะหนึ่งอีกด้วย
ปลายปี 2552 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ได้ตั้งฉายานักการเมือง โดยให้ฉายา นายแพทย์ชลน่าน เป็น “ดาวสภาฯ” ด้วยบทบาทการอภิปรายโดยมุ่งเน้นข้อมูลมากกว่าการใช้วาทศิลป์
ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ครม.ยิ่งลักษณ์ 3) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 2555 กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 2564 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อจาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ขณะนั้นพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในขณะนั้น จึงทำให้เขาเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ปี 2564
หลังการเลือกตั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2566 ชลน่าน เป็นผู้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ เศรษฐา ทวีสิน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม และ 22 สิงหาคม ตามลำดับ โดย พิธา ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด และมติรัฐสภาในสัปดาห์ถัดมา ห้ามการเสนอชื่อ พิธา ซ้ำ ส่วน นายเศรษฐา ได้รับเสียงเห็นชอบเกินเกณฑ์ที่กำหนด และได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
โดยก่อนหน้าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 3 "ชลน่าน" ยืนยัน จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลังการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 เสร็จสิ้น และเมื่อถึงวันนี้ วันที่ จัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ได้สำเร็จ ส่ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ชลน่าน จึงตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ยังเป็นว่าที่ รมว.สาธารณสุขให้รัฐบาลเศรษฐาอยู่