"กรมทะเลชายฝั่ง" เร่งประชาสัมพันธ์โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ย้ำ ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ตามนโยบายรัฐบาล โดย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ได้กำชับผ่านปลัด ทส. เร่งดำเนินการ 

วันที่ 29 ส.ค. 66 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมจะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ในปี ค.ศ. 2065

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับผ่าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าชายเลนในระยะเวลาอันสั้น โดยมีการบำรุงรักษาต่อเนื่อง 10-30 ปี อีกทั้งคืนความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศป่าชายเลน สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชุมชนชายฝั่ง ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในการจับหาสัตว์น้ำ หาสมุนไพร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และนิเวศบริการอื่นๆ ได้ตามวิถีชุมชนเหมือนเดิม ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการฯ สามารถใช้ในการชดเชยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ ในระบบทะเบียนของ T-VER ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปสนับสนุนให้ชุมชนใช้ในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืน อีกทั้งประเทศไทยมีฐานข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าชายเลนอีกด้วย

...

นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวว่า โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กรม ทช. ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 10 ปี เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ พร้อม ให้ผู้ร่วมพัฒนาโครงการได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ คราวละ 10, 20 หรือ 30 ปี ภาคเอกชนหรือบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการกับชุมชนจะต้องสนับสนุนงบประมาณในการปลูก บำรุง ดูแล ลาดตระเวนคุ้มครองพื้นที่ป่าและอื่นๆ ตามแผนงานและกรอบวงเงินที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน ตามความสมัครใจ ซึ่งสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับชุมชน กรม ทช. ในฐานะเจ้าของโครงการจะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ร้อยละ 10 ผู้ร่วมพัฒนาโครงการ (ชุมชนชายฝั่ง) จะได้รับร้อยละ 90 หากชุมชนใดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการฯ สนับสนุนงบประมาณ ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกันตามความสมัครใจ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน เป็นการดำเนินการในลักษณะที่กรม ทช. เป็นเจ้าของโครงการฯ มีการแต่งตั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการร่วมกับผู้ร่วมพัฒนาโครงการ (บุคคลภายนอก ภาคเอกชน และชุมชน) ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง มิใช่การอนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการในลักษณะการให้สัมปทานป่าไม้ ภาคเอกชนที่สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายให้ชุมชน ไม่มีสิทธิในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ แต่อย่างใด ผู้ร่วมพัฒนาโครงการจะได้รับเพียงสัดส่วนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการฯ เท่านั้น พร้อมกันนี้ กรม ทช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการฯ เพื่อรายงานผลความก้าวหน้าและกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าความสมบูรณ์ของป่าชายเลนจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศในภาพรวม โดยพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดยังคงเป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะของชาติ นอกจากนี้ กรม ทช. ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอกประจำปี พ.ศ. 2565

ทางเว็บไซต์ของกรม ทช. เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เนื้อที่ 44,172 ไร่ และมีภาคเอกชนยื่นแบบแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 17 ราย คณะกรรมการ กรม ทช. ได้พิจารณาจัดสรรให้ทั้ง 17 ราย ตามความเหมาะสม และต่อมาได้รับการยืนยัน จากภาคเอกชนตอบรับยืนยันเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 14 ราย เนื้อที่จำนวน 41,031.04 ไร่ ในพื้นที่ที่ตรวจยึดทวงคืนที่คดีถึงที่สิ้นสุดแล้ว พื้นที่นากุ้งร้าง พื้นที่เลนงอกที่มีความเหมาะสมสำหรับการฟื้นฟู และพื้นที่ปลูกเสริมและปรับปรุงสภาพป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มิได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าชายเลนสำหรับชุมชนแต่อย่างใด สำหรับโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน เป็นการดำเนินการในพื้นที่ป่าชายเลนที่ชุมชนดูแลอยู่เดิม เมื่อชุมชนเสนอพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ กับกรม ทช. โดยชุมชนดำเนินการเองหรือให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการฯ การคำนวณคาร์บอนเครดิตจะประเมินจากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินโครงการฯ เท่านั้น ซึ่งปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชนก่อนการดำเนินโครงการฯ จะไม่ถูกนำมาคิดเป็นจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ แต่อย่างใด ซึ่งกรม ทช. ได้จัดทำระเบียบโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน พ.ศ. 2566 กำหนดขั้นตอนและแนวทางการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชายเลนสำหรับชุมชน โดยให้ชุมชนที่มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนมีการประชุมร่วมกัน เพื่อลงมติการเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมคัดเลือกคณะกรรมการบริหารป่าชายเลนสำหรับชุมชน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนกับกรม ทช. โดยมีเจ้าหน้าที่กรมทช.ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำแปลง

โครงการฯ หลังจากที่กรม ทช. ได้ออกหนังสืออนุมัติโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชนในแต่ละพื้นที่แล้ว จะนำขึ้นประกาศเป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการในเว็บไซต์ของกรม ทช. เพื่อเชิญชวนให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ประสงค์จะร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการและสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงตามความสมัครใจร่วมกัน พร้อมเสนอให้กรม ทช. อนุมัติโครงการฯ ทั้งนี้ ต้องยื่นขึ้นทะเบียนโครงการฯ เพื่อประเมินคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารก๊าซเรียนกระจก (อบก.) เท่านั้น โดยต้องมีการจ้างบริษัทผู้ประเมินที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการประเมินคาร์บอนเครดิต โดยการดำเนินการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ชุมชนส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการฯ แต่หากชุมชนใดที่มีความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการปลูก บำรุง ดูแลรักษาพื้นที่ตามแผนงาน ค่าใช้จ่ายสำหรับจัดจ้างบริษัทผู้ประเมินคาร์บอนเครดิตก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ โดยไม่ต้องรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตทั้งสำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรม ทช. มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่และคืนความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นการแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคป่าไม้ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล รักษาทรัพยากรป่าชายเลนให้เป็นแหล่งพึ่งพิงใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน เอกชนที่เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการกับกรม ทช. ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในพื้นที่โครงการฯ คงได้สิทธิ์เฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นหลังการดำเนินโครงการฯ จากการประเมินของ อบก. ตามสัดส่วนที่ตกลงเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ ให้กับชุมชนในพื้นที่ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากหน่วยงานราชการอีกด้วย “นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย”

นายสุธีร์ ปานขวัญ ประธานคณะกรรมการบริหารป่าชายเลนสำหรับชุมชนบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2535 ที่ทางชุมชนบ้านไหนหนัง ได้มีการรวมตัวในการร่วมกันดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชน โดยชุมชนทำกันเอง และมีหน่วยงานจากองค์กรต่างๆ เข้ามาสนับสนุนบ้าง แต่ชุมชนยังเป็นกำลังหลักในการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กิจกรรมหลักของกลุ่ม คือการอนุรักษ์ป่าชายเลน โดยมีพื้นที่ป่าชายเลนที่ต้องดูแลประมาณ 3,500 ไร่ และเป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับการเลี้ยงผึ้งโพรง ที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของป่าซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของผึ้งโพรง ในขณะเดียวกันทางกลุ่มได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการป่าชายเลนให้เกิดความต่อเนื่องจึงได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตกับ สทช.10 กรม ทช. ทางกลุ่มและชุมชนรู้สึกอุ่นใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ทช. คอยให้คำปรึกษา ร่วมกิจกรรมกับทางชุมชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2557 ทางกลุ่มได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งบ้านไหนหนัง” เนื่องจากกลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น ประกอบกับสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำผึ้ง โดยรายได้ 10% จะหักไว้เข้ากองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อสร้างความยั่งยืนของกลุ่ม ต่อเนื่องมาจนมาระยะหลัง ทางสำนัก ทช. ที่ 10 มีการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน โดยการหาแหล่งงบประมาณจากบริษัทต่างๆ มาช่วยสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้ชุมชนมีกองทุนในการพัฒนาชุมชน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ และยังได้ช่วยกันปลูกป่า ดูแลป่า ช่วยเจ้าหน้าที่ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังป่าชายเลน ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ยังสามารถประกอบอาชีพประมง จับปู จับปลา มาเป็นอาหารและสร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่อง คาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องของอนาคตที่จะสามารถบอกได้ว่า ได้จริงแท้แน่นอนหรือได้ในปริมาณเท่าไร ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่ปีถึงจะได้ แต่ทางชุมชนก็ยังต้องร่วมกันฟื้นฟูดูแลป่าให้สมบูรณ์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้มีจำนวนสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชุมชน นับเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน ส่วนเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนงบประมาณไม่ได้มีกรรมสิทธิ์อะไรในผืนป่า ป่าชายเลนยังคงเป็นของชุมชน จัดการโดยชุมชนเป็นของภาครัฐเหมือนเดิม และขอยืนยันตรงนี้ว่า ผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตทั้งหมด สร้างประโยชน์ต่อชุมชน แน่นอนครับ

นายประนอม หวังเสล่ ประธานคณะกรรมการบริหารป่าชายเลนสำหรับชุมชนบ้านโคกยูง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน และโครงการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต เพราะแต่ก่อนชุมชนต้องช่วยกันดูแลป่า ฟื้นฟูป่า แบบจิตอาสา ตามกำลัง แต่ตอนนี้ มาร่วมโครงการกับ กรม ทช. รู้สึกอบอุ่นใจ มีเจ้าหน้าที่ ทช. คอยให้คำปรึกษา ประสานหาแหล่งงบประมาณจากภาคเอกชนมาช่วยออกค่าใช้จ่าย ได้เงินกองทุนช่วยพัฒนาชุมชน ชาวบ้านที่ตกงาน พอได้ทำงาน ปลูกป่า ดูแลป่า ลาดตระเวนชาวบ้านได้ทำมาหากินจับปู จับปลา

"สิ่งนี้แหละที่ชาวบ้านจับต้องได้ คาร์บอนเครดิต ก็ถือว่าเป็น โปรโมชัน ไม่รู้อีกกี่ปีจะได้ ถ้าได้มาชาวบ้านก็ได้โชค 2 ชั้นแต่สิ่งที่ชุมชนได้จากโครงการคือได้ร่วมฟื้นฟูดูแลป่าให้สมบูรณ์ อย่างต่อเนื่อง สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น สร้างรายได้สร้างอาชีพให้ชุมชนป่าสมบูรณ์คนพึ่งพิงป่าใช้ประโยชน์จากป่า ส่วนเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนงบประมาณไม่ได้มีสิทธิ์อะไรในพื้นที่ป่า ชุมชนจัดการป่าเองร่วมกับเจ้าหน้าที่กรม ทช. ป่ายังเป็นของชุมชนของราชการ เอกชนเพียงแต่รอผลจากการประเมินคาร์บอนเครดิตเหมือนรออากาศในอนาคต แต่ผลประโยชน์ตกกับชุมชนแน่นอนครับ นายประนอม กล่าวทิ้งท้าย