“ไตรศุลี” แจงเพิ่มเติม กรณีมหาดไทยอนุญาตสถานบริการเปิดในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกได้ 24 ชั่วโมง เฉพาะในสนามบินอู่ตะเภาที่บอร์ดอีอีซีประกาศเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเท่านั้น ไม่รวมพื้นที่หรือเมืองท่องเที่ยวโดยรอบ

วันที่ 27 สิงหาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ออกโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้สถานบริการเปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งภายหลังการเผยแพร่กฎกระทรวงดังกล่าว ปรากฏว่าสังคมบางส่วนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการอนุญาตที่ครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบด้วยนั้น

ในกรณีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันว่า อนุญาตให้เปิดบริการ 24 ชั่วโมงของสถานบริการจะมีได้เฉพาะในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เรื่อง กำหนด เขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งอยู่ในสนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่โดยรอบหรือเมืองท่องเที่ยวต่อเนื่องอื่น เช่น เมืองพัทยา จ.ชลบุรี หรือพื้นที่อื่นใน จ.ระยอง โดยพื้นที่อื่นๆ ภายนอกเขตส่งเสริมเมืองการบินยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การเปิด-ปิดสถานบริการตามปกติ

“เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกตามประกาศของบอร์ดอีอีซีครอบคลุมพื้นที่ 6,500 ไร่ในสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกิจการภายในสนามบินที่จะต้องมีการบินเข้า-ออกทั้งในส่วนของผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ที่จะต้องมีอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจำเป็นต้องมีบริการ กิจการร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการรองรับ เช่นเดียวกับสนามบินนานาชาติอื่นๆ เช่น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ที่ก็มีการอนุญาตให้ร้านค้าและบริการต่างๆ เปิดบริการในสนามบินได้ 24 ชั่วโมงเช่นกัน และการอนุญาตนี้จะสนับสนุนให้สนามบินอู่ตะเภามีบริการที่ครบวงจร สามารถดึงดูดการท่องเที่ยวและลงทุนให้เกิดในพื้นที่อีอีซีในภาพรวมได้” 

...

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีตามนโยบายของรัฐบาล มีเป้าหมายคือยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี ส่งเสริมให้อีอีซีสามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออกอย่างสะดวก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียน

สำหรับเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกในสนามบินอู่ตะเภา ประกอบไปด้วยหลายโครงการหลัก เช่น อาคารผู้โดยสารที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสาร, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul), เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre).