เช็กชื่อ "ครม.เศรษฐา 1" ใครเป็นใคร อยู่สายไหน รัฐบาลผสมข้ามขั้ว ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้เช็กมาให้พี่น้องประชาชน ได้รับทราบกัน ส่วนใครเป็นใครไปลองดูกันได้เลย
วันที่ 2 ส.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง มี ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ครม.เศรษฐา 1” ไร้ชื่อ “พิชิต ชื่นบาน-ไผ่ ลิกค์” ใครเป็นใคร เช็กรายชื่อ และตำแหน่งรัฐมนตรี
ขณะที่ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ใครเป็นใคร? อยู่สายไหนกันบ้าง? ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้เช็กมาให้พี่น้องประชาชน ได้รับทราบกัน ส่วนใครเป็นใครไปลองดูกันได้เลย...
โผ ครม.เศรษฐา 1
1. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง
เกิด 15 ก.พ. ปี 2506 ชื่อเล่น "นิด" นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ โดยหลังการประชุมร่วมกันของสภา 22 ส.ค. ปี 2566 ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี ถัดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
...
นายเศรษฐา ร่วมก่อตั้ง "แสนสิริ" ปี 2531 ซึ่งต่อมากลายเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย "เศรษฐา" สนิทกับ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในสามแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย คู่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของทักษิณ และ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566
อย่างไรก็ตาม เป็นที่พูดกันในคนที่ติดตามการเมืองและสื่อว่า "เสี่ยนิด" เป็นสายตรง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งเข้าประกวด
2. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พาณิชย์
เกิด 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ชื่อเล่น "อ้วน" ปี 2544 และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ประจำ รศ.ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นคนเดือนตุลา สวมบทเป็นผู้จัดการรัฐบาล คีย์แมนคนสำคัญ เจรจา ตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ตัวจริงเสียงจริงของพรรคเพื่อไทย ขนาดถึงกับยอมรับว่า เป็นการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ยากที่สุดในชีวิต อดีตเคยหนีเข้าป่าสมัยเดือนตุลาคม 2519 และถือได้ว่าเป็นสายตรงนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตัวจริง
3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.มหาดไทย
ศิษย์เอก "เนวิน ชิดชอบ" แห่งเมืองบุรีรัมย์ ผู้เป็นครูใหญ่ของ "เสี่ยหนู" เกิด 13 กันยายน พ.ศ. 2509 ชื่อเล่น "หนู" เลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยได้คะแนนเสียงมาเป็นพรรคอันดับที่ 3 สมการทางการเมือง เรียกได้ว่าได้เปรียบดีลแบบสุดๆ พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำ ไม่ว่าจะมาจากฟากฝั่งไหน หากต้องการจัดตั้งรัฐบาล ยากที่จะปฏิเสธพรรคค่ายสีน้ำเงินเข้าร่วม มีจุดอ่อนอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องกัญชาเสรี
4. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ควบ รมว.ต่างประเทศ
ชื่อเล่น "ตั๊ก" เกิด 20 ส.ค. ปี 2500 อายุ 66 ปี สมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่กองประสานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักเลขาธิการนายกฯ
สมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ถูกดึงไปช่วยงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกชาติชาย มีศักดิ์เป็นตาของภรรยาของ ดร.ปานปรีย์ (นางปวีณา พหิทธานุกร) ดร.ปานปรีย์ จึงเป็นทั้งลูกน้องและหลานเขยของ พลเอกชาติชาย
ปี 2539 สมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ และในปี 2545 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา
ปี 2546 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี 2546-2548 ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC)
ปี 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า
ปี 2551 เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อันดับ 1 รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค
ปี 2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ทั้งยังเคยเป็นอดีตผู้แทนการค้าไทยยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงเป็นอดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (หมอเลี้ยบ) และอดีตประธานบอร์ดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย
5. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เกิด 22 มีนาคม ปี 2492 ชื่อเล่น "ป๊อด" เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ "บิ๊กบราเธอร์" พรรคลุงป้อม ส่งมาเสียบทำการแทน "พี่ใหญ่" แห่งมูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ ที่มีข่าว "บิ๊กป้อม" ไม่สบอารมณ์เท่าไร เหตุอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่ม แต่ก็สยบข่าวด้วยการออกมากินหมูกระทะกับเพื่อนและหลานกลางกรุง ด้วยสีหน้าแจ่มใส คาดว่า วันนั้นคงตกลงเรื่องโควตาตำแหน่ง ครม.เศรษฐา 1 กับ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย
6. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พลังงาน
ชื่อเล่น "ตุ๋ย" เกิด 21 กุมภาพันธ์ ปี 2502 อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยังเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความเชี่ยวชาญการเขียนกฎหมายเป็นพิเศษ ทั้งนี้ มีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่แก้มาตรา 112 และยังมีความจงรักภักดีกับ "ลุงตู่" ไม่เสื่อมคลาย ประกาศชัด จะอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ นายกรัฐมนตรีจนวันสุดท้าย
7. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี
ผู้กว้างขวาง แห่ง จ.สุโขทัย เกิด 13 มกราคม ปี 2498 คนคนนี้เชี่ยวเกมการเมือง 1 ในอดีตกลุ่มสามมิตร รู้ทางลมดี เรียกว่า "แทงหวย" ไม่เคยพลาด เข้าร่วมฝั่งพรรคได้เป็นรัฐบาล สนิทแนบแน่นซี้ปึ้กกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐกลับมาสู่บ้านหลังเก่าพรรคเพื่อไทยด้วยกัน แล้วก็สุขสมหวังจนได้ อย่างเดียวที่เจ้าตัวขัดใจคือไม่ได้ตำแหน่ง รมต.ที่หวัง คือคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็ต้องผิดหวัง
เป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อ "กลุ่มวังน้ำยม" อันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรค ในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2548 มีนโยบายที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ "โคล้านตัว" เป็นนโยบายที่จะทำการแจกโคให้แก่เกษตรกรฟรีทั่วประเทศ
8. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข
เกิด 4 มิถุนายน ปี 2504 ชื่อเล่น "ไหล่" เป็นอดีตรมช.สาธารณสุข สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วีรกรรมของ "หมอชลน่าน" เป็น 1 ในตัวจักรสำคัญในการตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่ทำให้คนในโลกโซเชียลมีเดียจดจำ คือ การประกาศว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค 2 ลุง "รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ" ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 หากมีพรรค 2 ลุงมาร่วม จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ต่อมา ก่อนหน้าการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 3 "ชลน่าน" ยืนยัน จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หลังการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 เสร็จสิ้น
9. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์
เกิด 18 สิงหาคม ปี 2508 เริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย เมื่อปี พ.ศ. 2542 ต่อมาปี พ.ศ. 2557 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อไทย แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว
ต่อมา ปี พ.ศ. 2561 ธรรมนัส ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา เขตที่ 1 และมีปัญหาการเมืองกับ "บิ๊กตู่" ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนต้องถูกปลดออกจาก รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น
10. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม
เกิด 10 ธันวาคม ปี 2497 "พี่ใหญ่" แห่งกลุ่ม 3 มิตร สมหวังกับตำแหน่ง รมว.คมนาคม หลังย้ายจากพรรคพลังประชารัฐกลับมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ว่ากันว่าได้รางวัลนี้ เหตุเป็นคนเดินเกมหาเสียง สว.ให้เพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 จนสำเร็จ
11. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เกิด 1 เมษายน พ.ศ. 2503 เลขาธิการพรรคเพื่อไทย 1 ใน 3 คีย์แมนสำคัญ "ชลน่าน-ภูมิธรรม-ประเสริฐ" ทำหน้าที่เจรจาตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจนสำเร็จ จนได้รางวัลนั่งรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต
เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนครราชสีมา 2 สมัย ต่อมาได้เป็น ส.ส.พรรคไทยรักไทย ปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 ก่อนที่พรรคจะถูกยุบ และย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน นายประเสริฐ ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับเลือก ก่อนที่พรรคพลังประชาชน จะถูกตัดสินยุบพรรค ทำให้นายประเสริฐ ต้องย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา โดยนายประเสริฐ เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย
12. น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
รัฐมนตรีใหม่แกะกล่อง (ลูกสาวนายวีรศักดิ์) สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งโควตาของ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่มีผลงานโดดเด่นกวาด สส.นครราชสีมา ที่มีผลงานตามเป้า ผลักดันให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง
มีชื่อเล่นว่า “ปุ๋ง” อายุ 41 ปี โดยมีน้องชาย คือ “อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล” และได้สมรสกับ “นิกร โสมกลาง” ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเขตของพรรคเพื่อไทย ใน จ.นครราชสีมา
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ก่อนกระโจนสู่สนามการเมือง สุดาวรรณ ได้รับไม้ต่อเข้ามาบริหารธุรกิจโรงแป้งมันของครอบครัว ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด
13. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.แรงงาน
น้องชายอีกคนของ ครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ แห่งค่ายสีน้ำเงินภูมิใจไทย มารับตำแหน่งนี้ เพราะ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายอีกคน ติดคดีหุ้นบุรีเจริญอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่สะดวกในการมารับตำแหน่งใน ครม.เศรษฐา 1
พล.ต.อ.เพิ่มพูน เติบโตในชีวิตราชการ จนได้ติดยศ พล.ต.อ.ก่อนเกษียณ และกำลังจะได้เป็นรัฐมนตรี ถูกมองว่าได้ดีเพราะมีพี่ดัน เพราะเป็นน้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย
เส้นทางสายตำรวจ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รับราชการตำรวจ ตั้งแต่ปี 2527 ที่สำนักงานเลขานุการ กรมตำรวจ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ แต่น่าสังเกตว่าจังหวะชีวิตในการรับราชการตำรวจ พอการเมืองเปลี่ยนขั้ว ก็โดนสกัดไปด้วยเช่นกัน
ยุครัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 2 จเรตำรวจ
ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง กทม.
ยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัฒน์” ถูกเด้งจาก ตม.ไปเป็นอำนวยการจเรตำรวจ
ยุค “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นจเรตำรวจ (สบ.8) ก่อนขยับมารับตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฤดูกาลโยกย้าย 2562
และปี 2564 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เกษียณอายุราชการ
14. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ชื่อเล่น "ผึ้ง" เกิด 3 เม.ย. ปี 2516 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.กทม. เขต 13 (หลักสี่) พรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และ ปี 2548 ต่อมาย้ายมาลงเลือกตั้งกับพรรคภูมิใจไทย ปี 2554 ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 กทม. เขต 11 แพ้ นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย
ในการเลือกตั้ง สส. ปี 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดภูมิใจไทย ลำดับที่ 9 และปี 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
ศุภมาส เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ตำแหน่งโฆษกพรรค เมื่อ 14 ต.ค. 2555
15. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
"ลูกท็อป" ลูกชายนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย มาครั้งนี้เป็นเจ้ากระทรวง พม. มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ยิ่งช่วงนี้มีปัญหาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกกฎระเบียบ รัฐไม่จ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบถ้วนหน้าเหมือนเดิม แต่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของ นายวราวุธ ที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ
16. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม
เลขาธิการพรรคประชาชาติ พรรคเดียวกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตเลขาธิการ สมช. ผู้เชี่ยวชาญ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จับตาเป็นกระทรวงสำคัญ ที่ตอนนี้เกี่ยวพันกับกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไทย และมีข่าวว่าป่วยหนักจนต้องย้ายเข้า รพ.ตำรวจ และเกิดดราม่า ทักษิณ ป่วยจริงหรือป่วยการเมือง ขณะเจ้าตัวออกมาปัด ยังไม่ได้เข้าไปดูรายละเอียด เพราะขณะนั้นยังเป็นแค่โผว่าจะนั่ง รมว.ยุติธรรม
แต่ตอนนี้ได้นั่งเก้าอี้ รมว.แล้ว ก็จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือกันว่า จะอำนวยความยุติธรรมให้กับประเทศชาติได้ตามชื่อกระทรวงจริงหรือไม่?
17. นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม
สำหรับนายสุทิน เรียกว่า การจัดโผครม.ครั้งนี้ของเขา เชื่อเจ้าตัวคงคิดว่า เหมือนรถไฟเหาะ มีชื่อติดอยู่ในโผ ครม.เศรษฐา 1 มาตลอด ตั้งแต่ตอนแรกเป็นที่ฮือฮา จะมาเป็น รมว.กลาโหม ที่รู้สึกจะผิดฝาผิดตัวไปหน่อย จนชื่อไหลมา รมว.ศึกษาธิการ จนมาจบที่ รมว.วัฒนธรรม แต่แล้ว ก็เหมือนฟ้าผ่า เมื่อบุคคลที่มีชื่อว่าจะมาเป็นรมว.กลาโหม อย่างบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ ถูกเปลี่ยนตัวนาทีสุดท้าย กลับมาที่ชื่อตัวเองอีกครั้ง จนสุดท้ายได้มานั่งรมว.กลาโหม อีก เรียกว่าหนีไม่พ้น
นายสุทิน เกิดปี 2504 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่อภิปรายในสภาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจการตรวจสอบและการทำงานของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายครั้ง
18. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน
เริ่มงานการเมืองโดยการชักชวนของ วัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งก่อตั้งพรรคมหาชน ปี 2541 โดยปี 2562 หลังเลือกตั้งใหญ่ พรรคภูมิใจไทยได้เข้าร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา หลังภริยา นาที รัชกิจประการ ถูกตัดสิทธิกรณีแจ้งบัญชีเท็จในปี 2562 นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เกิด 5 ส.ค. พ.ศ. 2498 ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
19. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม
อดีตปลัดมหาดไทย สามี นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีต สว.ขอนแก่น โดย นายเสริมศักดิ์ เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ปี 2548 ต่อมาปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคการเมือง ปี 2549 และ นายเสริมศักดิ์ ได้เข้าร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อ 22 มี.ค. ปี 2553
ต่อมาในปี 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
20. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุสาหกรรม
ชื่อเล่น สส."ปุ้ย" เกิด 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 เป็นบุตรสาว มาโนชญ์ วิชัยกุล เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช มาแล้ว 4 สมัย ปัจจุบันสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็น สส.นครศรีธรรมราช เขต 10 อดีตสมาชิก ปชป. เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ
เป็น สส. แทนบิดา ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้งสส. พ.ศ. 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกสมัย กระทั่งในปี 2562 เธอก็ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3 เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกปชป.ใกล้ชิดกับกลุ่ม กปปส. กระทั่งวันที่ 14 ก.พ. ปี 2566 สมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับการเลือกตั้ง โดยเป็น ส.ส. ของ รทสช. เพียงคนเดียวในนครศรีธรรมราช
21. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง
ชื่อเล่น "แจม" เกิด 8 เม.ย. ปี 2518 สำเร็จการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จากวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรชาย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี
"จุลพันธ์" ลงเลือกตั้งเป็น สส.ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ชนะเลือกตั้งเข้าสู่สภาครั้งแรกในนามพรรคไทยรักไทย ชนะ ยงยุทธ สุวภาพ จากประชาธิปัตย์ (สส.คนเดียวของ ปชป.ในพื้นที่เชียงใหม่)
29 เม.ย. ปี 2554 ได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ที่สนามโรงเรียนบ้านวังจ๊อม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2562 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.เพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 และได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าเพื่อไทย มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายผลงานของรัฐบาล "บิ๊กตู่" ปีต่อมาเขาลงสมัคร สส.จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 5
22. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม
ชื่อเล่น "หมอหนุ่ย" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับรางวัลนี้ เหตุสามารถช่วยให้พรรคเพื่อไทยได้ สส. ในจังหวัดยกทีมทั้ง 5 คน
เคยลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามแย้ อ.ท่ามะกา ปี 2548 และเคยเป็นนายก อบต.สนามแย้ อยู่ 2 ปี หลังจากนั้นมาก็มาดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมัยนายกรังสรรค์อีก 2 ปี
ต่อมา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส. เขต 3 ปี 2554 อยู่กว่า 2 ปี แล้วก็ถูกเว้นวรรคทางการเมือง
23. นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ฉายา "มาดามนครบาล" ได้เป็นรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ชื่อเล่นว่า "แจ๋น" เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2500 ที่จังหวัดพระนคร เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถูกขนานนามว่าเป็นคนตัวเล็กแต่ใจใหญ่ แถมพึ่งพาได้เสมอ จึงเป็นที่นับถือของเหล่าบรรดานักการเมือง นักธุรกิจ และคนดังทั่วเมืองไทย
24. นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย
สส.อุทัยธานี ฉายาเจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง ใหญ่จริงในพื้นที่ วีรกรรมที่คนจำไม่ลืมในการอภิปราย เสนอชื่อโหวต นายพิธา เป็นนายกฯ คนที่ 30 บอกเลย รับไม่ได้ พรรคก้าวไกล ยืนยัน จะแก้ ม.112 รับ บรรพบุรุษเป็นคนในครอบครัวมุสลิมปาทาน อพยพจากปากีสถาน ตั้งรกรากที่อุทัยธานีตั้งแต่รุ่นปู่ มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร หลุดวาทะเด็ดกลางสภา "ขอออกกฎหมายใหม่ ยิงคนที่หมิ่นสถาบันแล้วไม่ติดคุก"
25. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย
เป็น รมช.มหาดไทย ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งที่แล้ว ต้องยอมรับว่า ถูกสื่อขนานนามเป็น "รัฐมนตรีที่โลกลืม" เนื่องจากไม่มีผลงานที่ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน คราวนี้มาร่วมงานกับรัฐบาลเศรษฐา 1 จากพรรคเพื่อไทย ก็หวังว่าอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกละกัน
เกิด 20 เมษายน ปี 2501) ชื่อเล่น "ป้อม" เป็นรมช.มหาดไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สมาชิกกลุ่มเพื่อนเนวิน รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีตรมช.คมนาคม ในรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ 7 สมัย
26. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข
เกิด 1 มกราคม พ.ศ. 2495 รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รมช.คลัง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยแบบบัญชีรายชื่อ และอดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
อดีตรมช.คลัง โด่งดังหลังจากการลาออกของ "ปรีดี ดาวฉาย" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล "ลุงตู่" เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ 27 วัน ซึ่งการลาออกในครั้งนั้น หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสงสัยว่าเกิดจากการขัดแย้งกันระหว่าง รมว.คนใหม่ กับ รมช.หรือไม่ ซึ่งทาง นายสันติ ยืนยัน เหตุ ปรีดี ลาออก เพราะปัญหาสุขภาพ
อีกชอตลือลั่นไม่แพ้กัน สื่อมวลชนถามว่า พร้อมที่จะรับบทเป็นขุนคลังคนใหม่หรือไม่ นายสันติ ก็สัมภาษณ์ไว้หาก นายกฯ หรือรองนายกฯ ไว้วางใจให้ความเห็นชอบ ก็พร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่
27. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ
สส.พรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง 2566 เป็นผู้กว้างขวาง จ.พระนครศรีอยุธยา เกิด 2 ก.ย. ปี 2519 มีพี่น้อง 5 คน หนึ่งในนั้น คือ นางสาวนภัสวรรณ พันธ์เจริญวรกุล ภรรยา ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ
เป็นอดีตเป็นสมาชิก อบจ.พระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย เขต 1 ลงสมัคร สส. ครั้งแรก ปี 2550 พรรคพลังประชาชน นายสุรศักดิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 4 สมัย
28. นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์
ชื่อเล่น "แฮงค์" เกิด 15 เม.ย. ปี 2503 ที่จังหวัดชัยนาท เป็น สส.จังหวัดชัยนาท สังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี อนุชา เคยสนับสนุนทางการเมืองพรรคภูมิใจไทย ที่มีอดีตภรรยาของตน นางพรทิวา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค
ปี 2561 ย้ายมาร่วมงานพรรคพลังประชารัฐ พร้อมรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และก้าวมาเป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
17 ก.พ. ปี 2566 อนุชา ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ สส. ทำให้พ้นจากตำแหน่ง กก.บริหารพลังประชารัฐ ปัจจุบันสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
29. นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.เกษตรและสหกรณ์
นายนภินทร จากพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ดำเนินงาน ตลาดกลางผักและผลไม้ จังหวัดราชบุรี (ศรีเมือง) เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดราชบุรี ปี 2543-2549 และเคยเป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2554-2556
30. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.ต่างประเทศ
เพิ่งลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง หมาดๆ เกิด 20 เม.ย. ปี 2506 จบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยนิวเฮเวน เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง จนได้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก่อนจะมีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งให้ นายกฤษฎา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แทน นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่โยกไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากร จากนั้น 1 ต.ค. ปี 2560 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต
วันที่ 1 ต.ค. ปี 2561 โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมศุลกากร แทน นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่โอนไปรับราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ต่อมา 18 ส.ค. ปี 2563 ที่ประชุมมีมติให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง สืบแทน นายประสงค์ พูนธเนศ ที่เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2563
31. นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย
เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีข่าวบินไปพบ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่สิงคโปร์ เมื่อ 7-12 มี.ค. 65 พา สส.อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ไปพบ "ทักษิณ" ในฐานะผู้ได้รับไว้วางใจจากนายใหญ่คนหนึ่ง
ชื่อเล่น "เสี่ยเบี้ยว" อดีต สส.อุบลราชธานี อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ
เกิด 27 พ.ย. 2495 ที่อุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ 69 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ ปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
สมรสกับนางรจนา กัลป์ตินันท์ อดีตนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี มีบุตรสาว 1 คน และมีบุตรชายจากการสมรสครั้งก่อน 1 คน คือ "วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์" เป็น สส.อุบลราชธานี เพื่อไทย
32. ไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์
พร้อมวาทะลือลั่น “พร้อมเป็นรัฐมนตรี” เกิด 26 ม.ค. ปี 2503 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นดาวการเมืองค้างฟ้า ได้รับเลือกตั้งเป็นสส.ในการเลือกตั้ง มี.ค.ปี 2535/1 ปชป. และการเลือกตั้ง กันยายน พ.ศ. 2535/2 พรรคชาติพัฒนา ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2538 ได้เป็น สส.หนองบัวลำภู สังกัดเดิม และได้รับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคเสรีธรรม ซึ่งได้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย นายไชยา จึงย้ายมาร่วมงานกับไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 การเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 (สังกัดพรรคพลังประชาชน) และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้ง ส.ส. 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย
ปี 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2562 เป็นประธานกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ และในปี พ.ศ. 2563 ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันพระปกเกล้า และปี 2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
33. นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ
เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และเป็น 1 คนที่ลงพื้นที่ไปกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่นำคณะทำงานท่องเที่ยวพรรคเพื่อไทย ไปพูดคุยหารือ กับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ที่จ.ภูเก็ต ร่วมกับ ว่าที่รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาด้วย เคยเป็น อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
34.นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม
ชื่อเล่นว่า "เดือน" เป็น สส.นครพนม (เขต 2) เพื่อไทย 3 สมัย อดีตนายก อบจ.นครพนม และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จ.นครพนม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน
เกิด 23 พ.ย.ปี 2508 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นนักต่อสู้ในนามคนเสื้อแดงจังหวัดนครพนม นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง หลังได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. ปี 2554 เธออาสามารับผิดชอบงานในกมธ.การมีส่วนร่วมพัฒนาการเมือง เพื่อทวงสิทธิให้กับคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากการชุมนุม
ได้รับการขนานนามจากพี่น้องในพื้นที่ ว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีผลงานพัฒนาที่เด่นชัด ใกล้ชิด ติดดิน และเข้าถึงพี่น้องประชาชน ในปี 2554 เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมเป็นครั้งแรก ในสังกัดพรรคเพื่อไทย หลังรัฐประหาร ยังคงลงเลือกตั้งเป็นสส.นครพนม อย่างต่อเนื่อง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เธอสามารถเอาชนะ ศุภชัย โพธิ์สุ หรือ "สหายแสง" ตัวเต็งจากพรรคภูมิใจไทย
เป็นนักประสานงานระหว่างพรรคการเมือง และเป็นที่ไว้วางใจในกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวิปฝ่ายต่างๆ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ผู้ประสาน 10 ทิศ" ในสภาผู้แทนราษฎร และยังเป็นเลขานุการภาคอีสาน ของพรรคเพื่อไทย
ราชกิจจานุเบกษา : โปรดเกล้า แต่งตั้งครม.เศรษฐา 1