"ชัยชนะ เดชเดโช" สส.ประชาธิปัตย์ ย้ำจุดยืนโหวตเห็นชอบ ไม่ได้ต้องหารร่วมรัฐบาล แค่อยากเห็นประเทศเดินหน้า ลั่นวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับความจริง สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ได้พูดคุยกับแขกรับเชิญ นายชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดคุยถึงปรากฏการณ์รอยปริแยก ภายใน "พรรคประชาธิปัตย์" จากการโหวตเลือก "นายเศรษฐา ทวีสิน" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการโหวตแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ เห็นชอบ, ไม่เห็นชอบ และ งดออกเสียง
ทั้งนี้ นายชัยชนะ กล่าวว่า ผมอยู่กลุ่ม 16 เสียงที่โหวตเห็นชอบ ผมและเพื่อนสมาชิก สส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 21 ท่าน เราหารือเรื่องการโหวตนายกฯ มาโดยตลอดว่า วันนี้ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า ประเทศต้องมีทางออก เราเลือกตั้งมาแล้ว 90 วันแต่ยังไม่มีรัฐบาล วันนี้เราจะปล่อยให้ประเทศไทยติดหล่มแบบนี้ไม่ได้ เราทราบดีว่ารัฐบาลรักษาการนั้นมีขอบเขตในการบริหารแผ่นดินอยู่แค่ไหน
ทางออกของประเทศคือต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112 และข้อสองเราต้องไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และการโหวตให้ไม่ได้หมายความว่า เราจะร่วมรัฐบาล เราพร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเหมือนกัน ยืนยันว่าเราพูดคุยภาพรวมกันมาตลอด แต่อาจจะมีบางคนเห็นต่างกันไป
เมื่อถามถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ก่อนวันโหวตนายกฯ นายชัยชนะ กล่าวว่า ทุกสัปดาห์เราจะประชุม สส.พรรคกันอยู่แล้ว เพื่อพิจารณาวาระในการประชุมสภาฯ ซึ่งในสัปดาห์นั้นเราประชุมวาระเลือกรัฐมนตรี โดยในที่ประชุมมีเพื่อนสมาชิกจากภาคอีสานและภาคเหนือขอให้โหวตเห็นชอบ เพราะคนในพื้นที่มีความคิดแบบนี้ โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกจากสกลนคร อุบลราชธานี ได้ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมบอกว่า พี่น้องประชาชนชาวอีสานเห็นควรให้มีรัฐบาลมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และอยากให้มีรัฐบาลโดยเร็ว
...
ในที่ประชุมวันนั้นมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน มีทั้งให้โหวตเห็นชอบ งดออกเสียง มีการถกเถียงกันไปโดยไม่มีมติพรรค ซึ่งผมจำได้ว่า ท่านชวน หลีกภัย บอกว่าขอไม่โหวต แล้วขอเดินออกจากห้องประชุมเพราะมีภารกิจ จากนั้นมีคนถามว่าให้เป็นมติพรรคหรือไม่ แต่ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ บอกว่าไม่ต้องโหวตเป็นมติหรอก เพราะทราบดีกันอยู่ว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร
นายชัยชนะ ยืนยันว่า วันที่ 21 สิงหาคม 2566 ไม่มีมติเรื่องการออกเสียง เราตกลงในที่ประชุมความเห็นส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง เป็นข้อตกลงกัน แต่ไม่ใช่มติ หลังจากประชุมเสร็จ เราได้มานั่งถกเถียงกันอีกครั้ง ว่าจะไปฟังการอภิปรายเกี่ยวกับคุณเศรษฐาในที่ประชุมอีกครั้ง แล้วค่อยหารือกัน
โดยในวันที่ 22 สิงหาคม หลังจากฟังการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว พบว่าข้อมูลไม่มีน้ำหนัก เวลาประมาณ 14.00 น. พวกเราจึงมาหารือร่วมกันว่าจะโหวตแบบไหน ซึ่งเราอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า จึงตกลงกันว่าจะโหวตเห็นชอบ
ซึ่งการโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. และเราไม่มีเงื่อนไขเป็นรัฐบาล เราพร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน จึงตกลงกันว่าจะไปโหวตท้ายสุด ส่วนเรื่องที่มีคนบอกว่า มีบางคนอยากเป็นรัฐบาล เรื่องนี้ผมยืนยันว่าไม่มีใครพูดว่าอยากเป็นรัฐบาล หากอยากเป็นรัฐบาลจริงก็มีเส้นทางอื่น ซึ่งไม่มีความจำเป็น แต่นี่เป็นจุดยืนทางการเมือง
สุดท้ายแล้วการเชิญร่วมรัฐบาล ไม่ใช่พวกผมตัดสินใจ แต่เป็นมติกรรมการบริหารพรรคประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน แล้วมีมติเป็นอย่างไร พวกผมจะตัดสินใจแบบนั้น
เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้องค์ประชุมพรรคล่ม นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ผมคิดว่าเกิดจากการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าสิ่งในอดีตที่ประชาธิปัตย์ทำดี เราเป็นประชาธิปัตย์คนรุ่นใหม่เรานำเอามาใช้อยู่แล้ว แต่สิ่งไหนที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคปัจจุบันก็ต้องทำ อย่างเช่น เวลาหาเสียง สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือ นโยบายปากท้อง ความเป็นอยู่
ประการที่สอง การต่อสู้ในการเลือกตั้ง เดิมทีเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เป็นการต่อสู้ในเวทีหาเสียง พรรคไหนมีคนพูดเยอะคนจะตามไปฟัง แต่วันนี้เป็นการต่อสู้กันทางโซเชียลมีเดีย ใครที่ทำคลิปออกมาแล้วนำเสนอได้ดีแล้วประชาชนเข้าใจ พรรคนั้นก็จะได้เปรียบ หรือนโยบายไหนที่ตอบสนองความต้องการที่เป็นปัญหาตอนนี้ คนก็ต้องการ เราต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยให้ได้ ต้องยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์ในอดีตเราเป็นพรรคหลักที่ต่อสู้กับอีกพรรคหนึ่ง
แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เราต้องยืนให้ชัดว่าตลาดของพรรคเราคืออะไร วันนี้เราเหลือ 9 แสนเสียง เราต้องถอดบทเรียนให้ได้ว่า คนที่หายจากเราไป 9 ล้านเสียงไปไหน ซึ่งผมบอกได้เลยว่า เสียงที่หายไป ไปอยู่กับก้าวไกลก็มี อยู่กับพรรคอื่นก็มี
อย่างไรก็ตาม นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ในเมื่อเราบอกว่าเราเป็นสถาบันทางการเมือง เราเป็นพรรคประชาธิปไตย เราก็ต้องยอมรับว่า เสียงข้างมากอยากให้พรรคไปทางไหน และคำว่า "หวง" กับ "ห่วง" ต่างกัน.