"สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย" ชง 3 ข้อเสนอ ฝากรัฐบาลใหม่ "เศรษฐา 1" เดินหน้าเร่งจดทะเบียน-ต่อใบอนุญาตแรงงานข้ามชาติ เปิดศูนย์ One-Stop Service-ลดค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาต
วันที่ 24 ส.ค. นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เราได้นายกฯคนใหม่ และกำลังจะได้รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อมาบริหารประเทศ โดยในส่วนของสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ หลังจากเดือนเมษายน 2566 พบว่า มีแรงงานข้ามชาติ สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม กว่า 1.9 ล้านคน อยู่ระหว่างกระบวนการจดทะเบียน และต่อใบอนุญาตตามมติคณะรัฐมนตรี 7 กุมภาพันธ์ 2566 และต้องลงตราวีซ่าภายใน 15 พฤษภาคม 2566 ขณะนี้ยังไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า เหลือแรงงานจำนวนเท่าใดที่ดำเนินการได้ทันและไม่ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว และยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีหรือมาตรการใดๆ มารองรับเพื่อให้แรงงานที่หลุดออกจากระบบ สามารถทำงานในไทยกับนายจ้างต่อไปได้อย่างถูกต้องในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ดังนั้นสภาองค์การนายจ้างฯ ขอเสนอ 3 ข้อ ถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้เร่งดำเนินการทันทีเพื่อแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ
...
โดยประการแรก เสนอให้มีการเปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Centers หรือ OSSCs) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ในหลายหน่วยงาน ช่วยลดภาระเรื่องการเดินทางของทั้งนายจ้างและแรงงานในการเข้าสู่กระบวนการขอรับใบอนุญาต ในเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลา และยังจะช่วยลดขั้นตอนโดยนายจ้างและแรงงานจะสามารถดำเนินการยื่นคำร้อง ตรวจสุขภาพ ลงตราวีซ่า และรับใบอนุญาตทำงาน พร้อมกับบัตรสีชมพู ได้ในจุดเดียว และดีที่สุดคือภายในวันเดียว
2) ลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตการเปิดศูนย์ OSSCs นายจ้างและแรงงานจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางได้ทันที หากการดำเนินการทั้งหมดสามารถผ่านศูนย์ได้ที่เดียว และใช้เวลาเพียง 1 วัน โดย อัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโดยสมบูรณ์ ควรสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเรียกเก็บเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแรงงานหนึ่งคน สำหรับการทำงาน 2 ปี หากไม่มีประกันสังคม จะอยู่ที่ 9,480 บาท โดยประมาณ หรือ 6,380 บาท เมื่อหักค่าประกันสุขภาพออกไป ในกรณีที่แรงงานเข้าประกันสังคม ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการต่อเอกสารเดินทางของแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่านายหน้า ในกรณีที่ทั้งนายจ้างและแรงงานไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนได้ด้วยตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับฐานรายได้ค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานแล้ว จึงไม่จูงใจให้แรงงานเข้าสู่ระบบ รัฐบาลควรมีแนวคิดปรับลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติ ยังมีข้อจำกัด เรื่องค่าวีซ่าเป็นเงื่อนไขไม่ให้แรงงานปรับเปลี่ยนสถานะเข้าเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยง่าย การใช้บริการคนกลาง หรือบริษัทในการช่วยดำเนินการอาจยังเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐควรจะกำหนดเพดานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการบริการ ในปัจจุบันการจดทะเบียนแรงงาน ไม่มีการกำกับดูแลการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนแรงงานจึงควรได้รับการกำกับดูแลโดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
และ 3) ลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติยังสามารถคงสถานะเข้าเมืองและมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุให้แรงงานต้องรายงานตัวทุก ๆ 90 วัน หากมองว่าการได้มาซึ่งใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องยุ่งยาก การคงสถานะพำนักและทำงานในประเทศได้อย่างถูกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ยากพอๆ กัน ทั้งนายจ้างและแรงงานต่างมีหน้าที่แจ้งเข้าแจ้งออกการทำงานต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และในระหว่างที่แรงงานอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องแจ้งที่พักอาศัย และคอยรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน โดยผู้ให้ที่พักต่อคนต่างชาติก็มีหน้าที่ต้องแจ้งการให้ที่พักด้วย
นายเอกสิทธิ์ ยังระบุว่า การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากนี้ควรใช้กรอบการพิจารณาใหม่ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่นๆ หรือจากชาติอื่นๆ โดยอาจเริ่มจากการผ่อนปรนเงื่อนไขการรายงานตัว 90 วัน ซึ่งได้เห็นแล้วว่ามีการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวกับผู้ถือวีซ่าประเภท smart visa ที่ให้รายงานตัวเพียงปีละหนึ่งครั้ง ในเมื่อแรงงานจดทะเบียนภายในประเทศมีนายจ้างและมีงานทำเป็นหลักแหล่ง การบริหารคนกลุ่มนี้ควรสอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่นำมิติความมั่นคงของรัฐมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดหรือเทียบเท่าการเข้าเมืองประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีมาตรการอื่นๆ ที่จะสามารถระบุหลักแหล่งของแรงงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งที่พักอาศัยใหม่ และการแจ้งเข้าทำงาน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมองภาคเศรษฐกิจ และแนวโน้มกำลังแรงงานในระยะยาว อย่างที่ทราบกันดีกว่า ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และในปีนี้เอง ประเทศไทยมีกลุ่มประชากรวัยเกษียณ (60-64 ปี) เป็นจำนวนมากกว่าประชากรในวัยทำงานช่วงต้น (20-24 ปี)
ทั้งนี้ หากรัฐดำเนินการทั้ง 3 ข้อ ข้างต้นนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ของการอำนวยความสะดวกที่เอาความต้องการและประโยชน์ของผู้คนเป็นที่ตั้ง โดยก้าวข้ามการเลือกปฏิบัติอันมีเหตุมาจากสัญชาติ เชื้อชาติ หรือสถานะบุคคล โจทย์ของความมั่นคงของรัฐจะกลายเป็นการบริการและคุ้มครองประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมๆ กับรัฐบาลที่มั่นคง