“เดชอิศม์” พร้อมด้วย 15 สส.ประชาธิปัตย์ นำแถลงชี้แจงโหวตสวนมติพรรค เห็นชอบ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี รับ แม้มีปัญหาขัดแย้ง พรรคไม่แตก ลั่น ไม่กระเหี้ยนกระหือรืออยากเป็นรัฐบาล พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
เมื่อเวลาประมาณ 09.45 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2566 นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สงขลา 2 สมัย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย 15 สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่โหวตสวนมติพรรค เห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา ว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 2 รอบ มีเจตนาที่จะให้องค์ประชุมล่ม ทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ต่อองค์ประชุมที่มาจากทั่วประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละครั้ง 3-4 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน นายเดชอิศม์ เปิดเผยเหตุผลในการโหวตสวนมติพรรค ว่า การประชุมวิสามัญพรรค เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ก่อนที่จะถึงวันโหวต ตนได้รับฟังเหตุผลในการโหวตแต่ละแบบ อย่างการโหวตไม่เห็นชอบ มีผู้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากความขัดแย้งและความโกรธในอดีต จากนั้นมี สส.รุ่นใหม่ ลุกขึ้นยืนบอกว่าอยากให้แยกการทำงานกับความโกรธแค้นในอดีต ทำให้มี สส.รุ่นใหญ่บางคนวอล์กเอาต์ไปจากที่ประชุม ส่วนกลุ่มคนที่โหวตเห็นชอบ ให้เหตุผลว่าเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชน ไม่อยากให้เกิดสุญญากาศในการแก้ไขปัญหาประชาชน
ส่วนกลุ่มคนที่อยากให้งดออกเสียง มองว่าเพราะยังมีความกังวลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างเช่น กรณีการโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยจังหวะนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นยืนพร้อมกับบอกว่า “อย่าโหวตกันเลย” ซึ่งตนมองว่าการโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. จึงไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วคือเป็นมติหรือไม่เป็นมติ เพราะมีการปิดประชุมไปเสียก่อน
...
โหวตหนุน เศรษฐา เพราะอยากให้ประเทศชาติเดินหน้า
จากนั้นวันที่ 22 สิงหาคม ตนและกลุ่ม สส. ที่โหวตเห็นชอบ เข้ามานั่งในห้องรับรองห้องหนึ่งเพื่อฟังการอภิปรายความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของ นายเศรษฐา ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการฟังแล้วในภาพรวม 100% ยอมรับได้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตนและกลุ่มเพื่อน สส. ยังนั่งฟังผลการโหวตของพรรคประชาธิปัตย์ 3 คน คือ นายจุรินทร์ โหวตงดออกเสียง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายชวน หลีกภัย โหวตไม่เห็นชอบ โดยมองว่า 3 คนนี้เป็นเสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์แต่ก็ยังโหวตไม่เหมือนกัน จึงคุยกันว่านี่เป็นมติของพรรคหรือไม่ เพราะคำว่ามติจะขอยกเว้นไม่ได้
“เราเป็นประชาธิปัตย์ ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่มีความขัดแย้ง และเราไม่ควรที่จะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ จึงคุยกันว่าเราต้องให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ และควรสนับสนุนให้ นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน เราเปิดโอกาสให้เขามาทำหน้าที่ นั่นคือเหตุผลในการโหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน”
นายเดชอิศม์ ยังบอกด้วยว่า วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มรูปแบบ เต็มตัว สส.ทุกคน มีศักดิ์ศรีความเป็นประชาธิปัตย์ ไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรือที่อยากจะไปเป็นรัฐบาล เพราะหลักการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ต้องเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ
เหน็บ หากมีเพื่อนทุกพรรคเป็นความผิด คงโดนประหารชีวิตนานแล้ว
สำหรับกรณีที่พรรคจะมีการเข้าชื่อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องการโหวตสวนมติพรรค รวมถึงเรื่องที่ไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะมีโทษหนักถึงขั้นขับออกจากพรรคนั้น นายเดชอิศม์ ระบุว่า กรณีที่ตนไปพบใคร เพราะมีเพื่อนอยู่ทุกพรรค และแยกระหว่างหน้าที่กับความรักความผูกพัน รวมถึงความโกรธแค้นออกจากกัน
“ถ้าการพบทุกพรรคเป็นความผิด ผมก็น่าจะโดนประหารชีวิตไปตั้งนานแล้ว เพราะผมสนิทกับทุกพรรคการเมือง แต่พอเข้าสภาฯ หน้าที่เขาอีกหน้าที่หนึ่ง พอเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งก็อีกหน้าที่หนึ่ง”
นอกจากนี้ กระแสที่ถูกมองว่าการโหวตสวนมติพรรคเพื่อที่จะตั้งใจให้ถูกขับออกและจะไปอยู่กับพรรคใหม่นั้น นายเดชอิศม์ ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าใครจะขับใครกันแน่ เราเสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด และเราไม่คิดจะขับใครออกจากพรรค พร้อมที่จะพูดคุยเจรจา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาเจรจา ไม่ว่าจะเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หรือทิศทางใดๆ
ยัน ประชาธิปัตย์ไม่แตก แต่ทุกคนควรลดทิฐิ
เมื่อถามต่อไป ตอนนี้จะทำงานในพรรคให้เป็นเอกภาพได้อย่างไร เพราะดูแล้วภายในพรรคขัดแย้งกันเอง นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการประชุมใหญ่วิสามัญและเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ได้ พร้อมฝากบอกผ่านสื่อมวลชนถึงผู้ที่ทำให้องค์ประชุมล่ม จะทำอย่างไรให้องค์ประชุมครบ ส่วนเรื่องการแข่งขัน มองว่าเป็นปกติของพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคก็ยินดีให้ความร่วมมือ ก่อนจะย้ำว่าความสัมพันธ์ภายในพรรคไม่ถึงกับแตก อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ทุกคนควรลดทิฐิและมารับฟังกัน เพราะทุกคนมาจากประชาชน กว่าจะฝ่าฟันมาได้เป็นเรื่องยากมาก.
(ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์)