“พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามหาความเป็นธรรม กรณีถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. หลัง คกก.สืบสวนและไต่สวน มีมติว่าจะให้ยกคำร้องปมถือหุ้นไอทีวี เหตุไม่มีการดำเนินกิจการและไม่มีรายได้จากสื่อ ตั้งข้อสงสัยจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีหุ้นไอทีวี (itv) หลังเมื่อวานนี้ (14 สิงหาคม 2566) มีข่าวออกมาว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติว่าจะให้ยกคำร้องตน ในคดีอาญามาตรา 151 เรื่องการรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร จากการถือหุ้นไอทีวี โดยคณะกรรมการสืบสวนมีเหตุผลสำคัญว่า บริษัทไอทีวีไม่มีการดำเนินกิจการอยู่และไม่มีรายได้จากการเป็นสื่อ จึงไม่ถือว่าตนมีความผิด 

“ผมยืนยันอีกครั้งว่า คดีหุ้นไอทีวีของผม เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะผมถือหุ้นนี้มาตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง เป็น สส. มา 4 ปี แต่เพิ่งจะเกิดการร้องเรียนกันขึ้นในเวลาที่ผมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเสนอชื่อผมต่อสภาฯ ไม่กี่วัน รวมถึงมีหลักฐานความผิดปกติมากมายที่บ่งชี้ว่ามีความพยายามปลุกปั้นให้บริษัทไอทีวีซึ่งเลิกกิจการสื่อไปนานกว่า 10 ปี กลับมาเป็นหุ้นสื่อให้ได้” 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

...

นายพิธา ระบุต่อไปว่า มาวันนี้ที่มีการเปิดเผยมติของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนออกสู่สาธารณะแล้วว่าตนไม่ผิด ทำให้มีประเด็นที่ขอถามไปยัง กกต. ดังนี้

1. คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว ซึ่งทำคดีมาตรา 151 (คดีอาญา) มีมติก่อนที่ กกต. จะพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถึงแม้ว่า กกต. จะอ้างว่าการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เป็นคนละกระบวนการกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่รวบรวมพยานหลักฐานและเรียกพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริง ได้เห็นข้อเท็จจริงว่าไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อและมิได้มีรายได้จากกิจการสื่อมวลชนในขณะที่ตนสมัครรับเลือกตั้ง แต่อย่างใด 

“แต่ กกต. กลับยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยละเลยข้อเท็จจริงบางประการที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้หยิบยกมาพิจารณา และละเลยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเรื่องการมีรายได้และที่มาของรายได้เป็นเกณฑ์ว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่”

2. การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน มีมติว่าหุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็สอดรับกับความเห็นของประชาชนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น การสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ไอทีวี และอินทัช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ล้วนแต่มีเอกสารงบการเงินยืนยันว่า ไอทีวีหยุดประกอบกิจการ และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ประกอบกับคดีหุ้นสื่อ (นอกจากคดี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ของ สส. ปี 2563 ประมาณ 60 คน ศาลก็ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีของตนกลับสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

อย่างไรก็ตาม นายพิธา ยังได้ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า “ผมจึงขอให้สังคมพิจารณาว่าการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ผม มีความเป็นธรรมหรือไม่”.