เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มั่นใจรวมเสียงโหวตนายกฯ ได้พอ ย้ำแบ่งกระทรวงบนโต๊ะให้ทุกฝ่ายยอมรับ ยันดันชื่อ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ แม้หลายฝ่ายเสนอ “แพทองธาร” ชี้ไม่จำเป็นต้องเข้าสภาแสดงวิสัยทัศน์
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าว พรรคที่จะมาร่วมกับเพื่อไทย ต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับกระทรวงก่อนโหวตนายกฯ ว่า พรรคเพื่อไทยเข้าใจพรรคที่จะมาร่วมงานกับเรา ที่ต้องการความชัดเจนในการร่วมรัฐบาล แต่อยากเรียนว่าการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เป็นการตั้งรัฐบาลพิเศษบนสถานการณ์พิเศษที่ประเทศต้องการออกจากวิกฤติอย่างเร่งด่วน เราจึงต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ในการนำพาประเทศออกจากวิกฤติ เราอยากให้การโหวตนายกฯ เป็นไปอย่างเรียบร้อยก่อน เมื่อมีความชัดเจนแล้ว จะนำประเด็นของแต่ละพรรคร่วมมาพูดคุยบนโต๊ะ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤติครั้งนี้ให้ได้ สำหรับกรณีที่พรรคเก่าจำเป็นต้องคุมกระทรวงเดิมหรือไม่นั้น เป็นเพียงแค่แนวคิด ส่วนการปฏิบัติ ตนขอยังไม่แสดงความคิดเห็น
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ว่าขณะนี้เรามั่นใจว่าเสียงที่จะสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว และเสียงของ สว.ที่เราได้รับสัญญาณจากหลายๆ ฝ่าย ก็เห็นว่าส่วนมากก็ได้แสดงท่าทีที่จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตของพรรค พท. ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราขอขอบคุณ เมื่อถามว่า สรุปแล้วพรรคของ 2 ลุง เราจะมีการไปเทียบเชิญมาร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้หากพรรคใดที่จะมาร่วมสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. เราก็ไม่ได้ปิดโอกาสเหมือนที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะสนับสนุนแคนดิเดตพรรค พท. แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังพอมีเวลาอยู่อีกระยะ ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ยังไม่ได้มีการนัดวันประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี
...
เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่มีบางฝ่ายมองว่า ควรดัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แทน นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ กล่าวว่า จริงๆ เราได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าจะเป็น นายเศรษฐา และพรรคก็พูดหลายครั้งแล้วว่าเป็นชื่อ นายเศรษฐา ฉะนั้น คิดว่าไม่มีการเปลี่ยนอะไรแล้ว เมื่อถามว่า มี สว.อยากให้ นายเศรษฐา เข้าไปชี้แจงเรื่องต่างๆ ในสภาด้วยตัวเอง มีโอกาสที่จะให้ นายเศรษฐา เข้าไปชี้แจงด้วยตนเองหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องการชี้แจง หากดูตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หรือเรื่องของการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกนั้น ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกเสนอชื่อต้องเข้าไปในห้องประชุม ฉะนั้น เรื่องนี้ทางประธานรัฐสภาก็ยังไม่ได้ว่าอะไรเลย เราจะฟังทางประธานรัฐสภาเป็นหลัก แต่หากยึดข้อบังคับเป็นหลักปกติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในสภา.