“สุดารัตน์” โวย “รัฐบาลบิ๊กตู่” ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ หลังปรับระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 หยุดระบบรัฐสงเคราะห์ เลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา ไม่เอางบรัฐมาสร้างบุญคุณ
วันที่ 14 สิงหาคม 2566 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ขอคัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวต่อไปว่า การเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักสากล แต่เป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถนัด นั่นคือการเลือกปฏิบัติและสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่จริงคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำว่า แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่า รัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็น จนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอีกกว่า 6 ล้านคน ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงิน แล้วยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาท ก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจนทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ
...
“รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณ หรือมาแบ่งคนจน คนรวย”
ในช่วงท้าย คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุด้วยว่า พรรคไทยสร้างไทยพร้อมด้วยเครือข่ายบำนาญประชาชนกว่า 3.2 ล้านคน จะคัดค้านระเบียบกระทรวงนี้อย่างเต็มที่ และจะสนับสนุนให้เกิดบำนาญประชาชนที่มอบเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทให้กับคนไทย ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้อย่างสุดความสามารถ เพื่อเป็นการตอบแทนดูแลผู้สูงวัยที่ทุ่มเททำงานให้กับประเทศชาติและลูกหลานในสังคมมาทั้งขีวิต อีกทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แข็งแรงจากฐานราก ซึ่งตอนนี้ร่างกฎหมายบำนาญประชาชนถูกยื่นไปยังรัฐสภาเรียบร้อยแล้วก่อนการเลือกตั้ง และรอบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาต่อไป