เมื่ออินเดีย ผู้ส่งข้าวออกมากที่สุดในโลก ห้ามส่งข้าวสารออกไปต่างประเทศ ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งข้าวออก เป็นอันดับ 2 ของโลก จะได้อานิสงส์อะไรหรือไม่ ได้ส่งข้าวออกมากขึ้นทำให้ชาวนาไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่ออินเดียห้ามส่งออก จะทำให้ข้าวสารหายไปจากตลาดโลกถึง 10 ล้านตัน
ข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรโลกกว่า 3 พันล้านคน จากทั้งหมด 7.8 ล้านคน ไทยผลิตข้าวสารได้เป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ส่งออกได้เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย เมื่ออินเดียห้ามส่งข้าวออกถึง 10 ล้านตัน ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้มากขึ้น และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่มีปัญหาว่าไทยจะผลิตข้าวได้พอหรือไม่
เนื่องจากปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในภาวะเอลนินโญเต็มตัว มีฝนตกน้อยกว่าปกติ และฝนอาจทิ้งช่วงไปถึงปี 2567 อาจต้องลดการผลิตเพราะขาดน้ำและลดการส่งออก เพื่อไม่ให้ราคาข้าวภายในพุ่งสูง ก่อให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงในประเทศ ขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ กลายเป็นวิกฤติทั้งการเมืองและปัญหาปากท้อง
ใน 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของรัฐบาล คสช. และรัฐบาลเลือกตั้ง ไทยมีปัญหาผลผลิตต่อไร่ตกต่ำ ผลิตข้าวได้ต่อไร่แค่ 450 กก. ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ผลิตได้ 1,000 กก.ต่อไร่ ทำให้ชาวนาไทยมีรายได้ต่ำ ชาวนาเป็นอันมากมีหนี้สินล้นพ้น โดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 2-3 แสนบาท ต้องขายนามาเป็นผู้เช่า
ปัญหาสำคัญของชาวนาไทยได้แก่ ปัญหาน้ำ ทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง และราคาที่ไม่มั่นคง จนมีคำกล่าวในหมู่ชาวนาว่า “ทำนาปรังได้แต่ซังกับหนี้ ทำนาปีได้แต่หนี้กับซัง” การที่ผลผลิตต่อไร่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เป็นหลักฐานยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เอาใจใส่ในการพัฒนาพันธุ์ข้าว รัฐบาลไทยชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือ อุ้มราคา
สี่ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้กำกับดูแลทั้งกระทรวงเกษตรฯ ผู้ควบคุมการผลิต และกระทรวงพาณิชย์ ผู้ดูแลเรื่องราคา ตามนโยบายประกันราคาพืชผล แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ทำให้ครอบครัวเกษตรกรกว่า 11% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
...
ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเจ้าของนโยบายรับจำนำข้าว “เจ้าบุญทุ่ม” ตัวจริงกำลังจะกลับมา หลังจากที่เคยสร้างผลงานรับจำนำข้าวจนรัฐบาลเจ๊ง ไม่มีเงินจ่ายชาวนา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถูกพิพากษาจำคุกในคดีรับจำนำข้าว คราวนี้รัฐบาลเพื่อไทยประกาศแจกเงินคนไทยหัวละหมื่นบาท ใช้งบกว่า 5 แสนล้าน อ้างว่าไม่ใช่ประชานิยม.