ผลสำรวจ นิด้าโพล เผย ประชาชน มอง “อภิสิทธิ์” เหมาะนั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป “ชวน” ตามมาอันดับ 2 “เอ๋ สุชัชวีร์” อันดับ 3 ค้านไม่เห็นด้วยร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

วันที่ 13 สิงหาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องวุ่นๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.63 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ร้อยละ 9.31 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย   

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.48 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย อันดับ 3 ร้อยละ 9.85 ระบุว่าเป็น ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) อันดับ 4 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อันดับ 7 ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น นายอลงกรณ์ พลบุตร อันดับ 8 ร้อยละ 1.76 ระบุว่าเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ร้อยละ 1.46 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายเดชอิศม์ ขาวทอง นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่สนใจ     

...

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนหากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.62 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่สนใจ