ประเทศไทยผ่านพ้น “การเลือกตั้งมาเกือบ 4 เดือน”แต่ยังไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ กลายเป็นภาวะสุญญากาศกระทบต่อ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ที่กำลังถูกฉุดรั้งให้ประเทศถอยหลังอย่างช้าๆ

แล้วความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้ “สร้างความกังวลใจ และขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทย และชาวต่างชาติ” จนอาจเปลี่ยนแผน เปลี่ยนทิศทาง และย้ายฐานผลิตในที่สุด ทำให้ประเทศเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาล รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า

ตอนนี้ต้องจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด หากปล่อยนานจะกระทบการแก้ปัญหาให้ประชาชน และส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยบิดเบี้ยวภายใต้ รธน.2560 ถูกร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะอำนาจเก่าที่กำลังเล่นเกมสกัดพรรคการเมืองคะแนนอันดับ 1 ผ่านองค์กรอิสระ หรือ สว.

เช่นนี้คงเป็นหน้าที่พรรคอันดับ 2 ต้องพยายามตั้งรัฐบาลให้ได้ในเดือน ส.ค.นี้ เพราะถ้าเป็นรัฐบาลจัดตั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมักมีเสถียรภาพความมั่นคงเป็นผลบวกต่อการฟื้นตัวตลาดการเงิน ทั้งยังดำเนินนโยบายสาธารณะทวิวิถี โดยผสมผสานยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค และการลงทุนในประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

...

อันจะช่วยให้ประเทศรับมือความท้าทายจากการทรุดตัวของภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติอยู่ที่ระดับ 1.25-1.3 ล้านล้านบาท เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 243-245% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้น 3,025% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ 0.04 ล้านล้านบาท

ในขณะที่ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้แล้วประมาณ 5.2 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายได้ไม่ต่ำกว่า 3.5-4% ทั้งยังเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นต่อ “เศรษฐกิจ” เป็นผลบวกต่อตลาดการเงินให้กระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุน และตลาดพันธบัตรจะน่าสนใจขึ้น โดยเฉพาะหลังแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 2 ส.ค.2566

คาดว่าค่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้น และจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าไทยอันได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็สะท้อนกระแสเม็ดเงินไหลเข้ามากขึ้น ทั้งในตลาดการเงิน และภาคท่องเที่ยว

หากย้อนดู “สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ” ในช่วงปลายเดือน ก.ค.2566 มีการไหลเข้าลงทุนตลาดพันธบัตร 214 ล้านบาท แม้ยังขายสุทธิหุ้นไทย 4,285 ล้านบาท แต่จะกลับมาซื้อสุทธิได้ระยะต่อไป

แล้วถ้าการเมืองชัดเจน “การแก้ปัญหาทุจริตหุ้น Stark มีความคืบหน้า” ย่อมทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นแน่นอน สังเกตจากกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์จะอยู่ที่ระดับ 33.20-34.20 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังมีโอกาสหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน

ประเด็นสำหรับ “โจทย์ความท้าทายของรัฐบาลใหม่” โดยเฉพาะภาคการส่งออกทรุดตัวอย่างแรงที่กำลังเป็นภาพสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก แล้วในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวสูงถึง 5.4% ตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย.ติดลบ 6.4% มีมูลค่าส่งออก 24,826 ล้านดอลลาร์ (848,927 ล้านบาท)

แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง 2566 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นจากปัจจัยความหวั่นวิตกเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาการถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiatives ของรัสเซีย รวมถึงปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญที่อาจเกิดภาวการณ์ตึงตัวของอุปทานตลาดอาหารโลกในระยะต่อไป

ถ้ามาดู “เศรษฐกิจไทย” มีระดับการเปิดประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ระดับการเปิดประเทศที่สูงนั้นก็เป็นความถดถอย หรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ตามการคำนวณในสิ้นปี 2565 “ประเทศไทย” มีระดับการเปิดประเทศอยู่ที่ 116.76% อัตราทางการค้าไทยปรับตัวลดลง เพราะราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคาสินค้านำเข้าปรับตัวลดต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะลักษณะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ทำให้สวัสดิการของสังคม หรือประชาชนดีขึ้นมากได้

หลักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Immiserizing Growth เมื่อการขยายตัวทางการค้าทำให้อัตราแย่ลงมากกว่าผลบวกการค้านำมาสู่ “ความมั่งคั่ง” ส่งผลให้สวัสดิการโดยรวมสังคมลดลง กลายเป็นประเทศต้องซื้อสินค้านำเข้าในราคาสูง และต้องลดราคาสินค้าส่งออกลงเพื่อให้ขายได้

ส่วนระบบเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ดังนั้นอัตราการค้าที่ตกต่ำ จึงมีผลให้สวัสดิการของประเทศลดลง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมเพิ่มขึ้น “การกระจายรายได้แย่ลง” ทำให้การพัฒนาประเทศในยุครัฐบาล คสช.มีรายได้กระจุกตัวในกลุ่มคนมีรายได้ระดับสูง

เกิดความแตกต่างกลุ่มคนมีรายได้สูงกับคนมีรายได้ต่ำของประเทศติดอันดับต้นๆของโลก

เช่นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด “ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น” ระหว่างรายได้กลุ่มคนรวยสุด 10% แรกกับกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10% ล่าง อยู่ที่ 19.29 เท่า กลุ่มคนรวยสุด 10% ถือครองรายได้รวม 35.3% ของรายได้ทั้งหมดประเทศ

สิ่งนี้กลายเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ “ก้าวข้ามพ้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง และกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลาง” เบื้องต้นต้องสร้างเสถียรภาพทางการเมืองก่อน เพราะด้วยประเทศไทยเคยหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง และแก้ปัญหาความยากจนได้ในปี 2530

มีปัจจัยจากความต่อเนื่อง “การดำเนินนโยบาย และเสถียรภาพทางการเมือง” แต่ไม่นานก็สะดุดลงจากวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 2540 นับแต่นั้นก็ค่อยๆขยับตัวจากประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่ไม่อาจหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้วได้

ทว่าสำหรับ “ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง” ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 157,472-488,585 บาทต่อปี ขณะนี้ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 234,000 บาทต่อปี “ติดกับดักรายได้ปานกลางมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ” สิ่งนี้เป็นเป้าหมายหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศมีรายได้สูงปี 2580

“แผนยุทธศาสตร์นี้ส่วนตัวเคยร่างไว้เช่นกันสมัยเป็น ผอ.สนง.พัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวเป็นประเทศพัฒนารายได้สูงในปี 2575 ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 488,585 บาทต่อปี ต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีให้ได้อีก 1 เท่าตัว หรือ 108% ในระยะ 9-14 ปีข้างหน้า” รศ.ดร.อนุสรณ์ว่า

ความท้าทายต่อมา “การปฏิรูปเศรษฐกิจให้เท่าเทียม” ด้วยการจัดการทุนใหญ่ผูกขาดให้กลายเป็นทุนแข่งขันกันอย่างเสรี เพื่อให้กลุ่มทุนใหญ่อาศัยนวัตกรรม และขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มขึ้น “ไม่ใช่อาศัยสัมปทานผูกขาดจากภาครัฐ” แล้วมาตรการทางภาษีก็ต้องแบ่งปันกำไรส่วนเกินกระจายมาให้สังคม

ผ่านระบบสวัสดิการ หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ยากจน ด้วยการวางยุทธศาสตร์สู่การเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” เริ่มต้นทำให้ประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางก่อน

ด้วยการวางเป้าหมายประมาณการได้ว่า “อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ละปีเท่าไหร่ และใช้เวลากี่ปี” จึงจะทำให้ประชาชนมีรายได้เท่าประเทศพัฒนา 12,695-13,205 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี แต่เราต้องผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 5-6% ระยะ 9-14 ปีข้างหน้า ถ้ายิ่งเศรษฐกิจโต ปีละ 7-8% ยิ่งจะก้าวสู่ประเทศพัฒนาเร็วขึ้น

ดังนั้นการมีนโยบายกระจายเขตเศรษฐกิจพิเศษไปพื้นที่ต่างๆ จะช่วยให้ความเจริญทางเศรษฐกิจกระจายตัวขึ้น “นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่” จึงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต แต่อาจจะช่วยเพิ่มการเติบโตจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้

แต่จะไม่สามารถทำให้แรงงานส่วนใหญ่ “หลุดพ้นความยากในวงกว้าง” เพราะแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมไม่ได้อยู่ในระบบคุ้มครองแรงงานจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ

ฉะนั้นในเวลานี้ “คนไทย” ต่างเรียกร้องให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นโดยเร็ว “ครม.” ก็ควรตั้งให้แล้วเสร็จในเดือน ส.ค.–ก.ย.นี้เพราะหากล่าช้ากว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และประเทศแน่นอน.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม