“รังสิมันต์ โรม” ชี้ “พิธา” พูดเวที ม.ธรรมศาสตร์ คือปรากฏการณ์สังคมโหยหาการเมืองแบบปกติ แจง คำว่าอยู่ไม่เป็น คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ไม่ว่าจะเรียนคณะอะไร

วันที่ 6 ส.ค. 2566 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า สิ่งที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล พูดในเวทีธรรมศาสตร์ คือสิ่งที่ประชาชนล้วนพึงมีใน “การเมืองแบบปกติ” สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นายพิธา ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นแขกรับเชิญพิเศษในฐานะศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2566 โดยได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม: 3 เสาหลักจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ สู่การสร้างสรรค์สังคม” ให้แก่ “เพื่อนใหม่” ชาวธรรมศาสตร์ทุกๆ คน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงต้องเป็นคุณพิธา ซึ่งสถานะขณะนี้เป็นเพียง ส.ส. คนหนึ่งที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ที่ได้รับเชิญไปพูดในงานดังกล่าว? ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะว่าถ้าตอนนี้ประเทศไทยเรามีการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบปกติ คุณพิธาที่ได้รับการเสนอชื่อจาก 8 พรรค 312 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร คงได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไปแล้ว และมันคงไม่แปลกอะไรที่มหาวิทยาลัยจะอยากเชิญศิษย์เก่าที่เป็นนายกรัฐมนตรีไปร่วมแสดงทรรศนะบางอย่างแก่นักศึกษาใหม่บ้าง

ผมคิดว่านี่คือหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโหยหาที่จะกลับสู่การเมืองแบบปกติจริงๆ เสียที นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติขอให้รัฐสภาทบทวนการวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะกระทำซ้ำมิได้ เป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้รัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพิสดารอยู่ในระบบกฎหมายและโครงสร้างอำนาจมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะกลับมาเดินหน้าประเทศอย่างตรงไปตรงมาสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของประชาชนจริงๆ เสียที

...

หรือแม้แต่สิ่งที่คุณพิธากล่าวต่อนักศึกษาใหม่ในครั้งนั้น ว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” คือความ “อยู่ไม่เป็น” นั่นคือความเชื่อมั่นตลอดเวลาว่าคุณสามารถเป็นในสิ่งที่อยากเป็นได้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ ไม่ว่าจะเรียนวิศวะ บัญชี แพทย์ หรือคณะอะไรก็ตาม สามารถร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรมที่ดียิ่งขึ้นกว่านี้ได้ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนพึงมี พึงคิด พึงทำได้ในการเมืองแบบปกติมิใช่หรือ?

สุดท้ายนี้ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์เช่นกัน ขอฝากไปยังเพื่อนใหม่ (ตลอดจนถึงเพื่อนนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน) ทุกท่านเสริมจากคุณพิธาด้วยว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เรียกร้องให้ต้องอยู่แต่กับเรื่องใหญ่ๆ ระดับประเทศเท่านั้น เพราะแม้แต่ภายในรั้วมหาลัยก็อาจมีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ลองเริ่มต้นจากการสำรวจ “สังคม” และ “การเมือง” ที่อยู่ในผู้คนรอบๆ ตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาด้วยกันเอง อาจารย์ บุคลากรเจ้าหน้าที่ ตลอดไปจนถึงพ่อค้าแม่ขายและคนในชุมชนรอบๆ ผมเชื่อว่าชีวิตมหาลัยของพวกท่านจะสนุกและมีสีสันมากขึ้นไม่น้อยเลยครับ