พรรคเพื่อไทยจับมือพรรคพลังประชารัฐ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ กำลังตอบโจทย์ “การเมืองเปลี่ยนสีสลับขั้วผสมตั้งรัฐบาลชุดใหม่”

โดยย้อนไปดูมุมคิดในแวดวงวิชาการก่อนการเลือกตั้ง ที่วิเคราะห์ถึงสูตรจับขั้วรัฐบาลภายใต้ฐานคิดพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะเป็นที่ 1 แต่เสียงไม่พอที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ สุดท้ายต้องพึ่งพาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือรัฐบาลชุดเดิม เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

และตามผลนิด้าโพลที่ออกมาครั้งก่อนเลือกตั้ง คะแนนพรรคและบุคคลของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำ พท. พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ ต้องพูดถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

ก.ก.-พท.-รทสช.มีอุดมการณ์ที่ข้นกว่าพรรคอื่น

3 พรรคมีมิติเชิงอุดมการณ์ ผลลัพธ์ออกมาได้คะแนนบัญชีรายชื่อเรียงตามลำดับ เป็นประชาชนส้ม-แดง-เหลือง ซึ่งตื่นตัวทางการเมือง เฉดทางอุดมการณ์อาจแตกต่างกัน ประชาชนที่เลือกด้วยปัจจัยอื่น ก็มีความคิดทางการเมือง แต่สภาพชีวิต ความเป็นอยู่ทำให้ให้น้ำหนักกับปัจจัยอื่นมากกว่าเชิงอุดมการณ์

ใน พท. ยังแบ่งมวลชนเป็น “กลุ่มแดงอุปถัมภ์-กลุ่มแดงประชาธิปไตย” อีกขั้วการเมือง ก็แบ่งมวลชนเป็น “กลุ่มเหลืองเข้มจารีต-กลุ่มเหลืองอ่อนเสรีนิยม”

และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมวลชนอีกกลุ่ม เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นเหลือง-แดง แถมมีกลุ่มแดงประชาธิปไตย กลุ่มเหลืองแบบเสรีนิยม ที่เทคะแนนให้ ก.ก. ส่วนกลุ่มเหลืองจารีต เดิมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก่อนหันไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนพรรคอื่นๆที่ไม่ได้ระบุถึงก็มีมวลชนสนับสนุน แต่มีน้อย

...

ทั้งหมดชี้ให้เห็นมวลชนแดงมี 2 เฉด มวลชนเหลืองก็มี 2 เฉด และกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิยมประชาธิปไตย ไม่นิยมเผด็จการ พอมีโจทย์ “การเมืองเปลี่ยนสีสลับขั้วผสมตั้งรัฐบาลชุดใหม่” ก็มีคำถามว่าแดง-เหลืองระดับบนกับมวลชนที่เป็นองค์ประกอบจะเกิดการดีลกันอย่างไร โดยเฉพาะระดับบนของ พท.-พปชร.-รทสช.

สถานการณ์ของมวลชนตอนนี้ ทั้งกลุ่มแดงอุปถัมภ์ ที่สนับสนุน พท.เป็นหลัก กลุ่มเหลืองจารีต ซึ่งตอนนี้ไร้แกนนำ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยเป็นแกนกลาง ก็ประกาศวางมือ ยังไม่มีใครที่ขึ้นมาแทน

“กลุ่มเหลืองจารีตจับมือกับกลุ่มแดงอุปถัมภ์ ทั้ง 2 กลุ่มมีพื้นฐานความคิดเป็นอนุรักษ์นิยม กลุ่มแดงประชาธิปไตย กับกลุ่มเหลืองเสรีนิยม มีมิติประชาธิปไตยมาก กลายเป็นส้ม บวกกับมวลชนคนรุ่นใหม่

มิติในเชิงการเมืองไทยค่อยๆปรากฏตัวขึ้นอย่างชัดเจนในเชิงอุดมการณ์ เมื่อก่อน ก.ก. และ พท.มีจุดร่วมกันได้ เพราะมีประชาธิปไตยเป็นจุดร่วม ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเชิงอุดมการณ์ มีสาระที่แก่นแท้ในแง่การเมืองสังคมในอนาคต แนวนโยบายจัดการสังคม

ซึ่ง พท.ออกมาเฉดอนุรักษ์นิยม ต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม โครงสร้างอำนาจ ลำดับชั้นของอำนาจแบบเดิม และ ก.ก.ต้องการสังคมที่เท่าเทียม ปัจเจกบุคคลมีความเท่าเทียมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม”

มาถึงจุดนี้ พท.โน้มเอียงร่วมมือกับกลุ่มเหลืองจารีต

คนทั่วไปอาจมองเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก แต่ความจริงไม่แปลกที่จับมือกัน เพราะ 2 กลุ่มต้องโน้มตัวเข้าหากัน เพราะไม่ได้ขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์มากนัก ที่ผ่านมาขัดแย้งเฉพาะที่ตัวบุคคล ถึงได้ต่อสู้กัน

แกนนำระดับบนจับมือกันได้ มวลชนที่สนับสนุนก็จับมือกันได้ รศ.ดร.พิชาย บอกว่า ใช่ๆ แต่ส้มต่างในเรื่องอุดมการณ์กับกลุ่มแดงอุปถัมภ์ และกลุ่มเหลืองจารีต ซึ่งมีลำต้นเป็นอนุรักษ์นิยม กิ่งก้านมีตั้งแต่ขวาแบบฟาสซิสต์ ขวาแบบจารีต ขวาแบบยึดตัวบุคคล ขวาแบบอำนาจนิยม

ขอยกตัวอย่างให้เห็นว่าอนุรักษ์นิยม ก็มีวิวัฒนาการเหมือนในยุโรปในศตวรรษที่ 19 จากแบบอำนาจนิยมหรือแบบจารีต กลายเป็นอนุรักษ์นิยมแบบประชาธิปไตย สุดท้ายอุดมการณ์เสรีนิยม อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมก็อยู่ร่วมกันได้ โดยมีจุดร่วมคือประชาธิปไตย

ขณะที่ส้มเป็นเสรีประชาธิปไตยที่เป็นฐานหลักของอุดมการณ์ บางส่วน ผสมกับนโยบายอุดมการณ์ใหม่ๆ เช่น พหุวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ สวัสดิการออกมาในเฉดสังคมนิยมหน่อยๆ หรือส้มมีลำต้นเป็นเสรีนิยม มีกิ่งก้านเป็นสังคมนิยมอ่อนๆ

ในอนาคตต่อสู้กันระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม

ทีมการเมือง ถามว่า จุดเปลี่ยนผ่านประเทศไทยกำลังสลับสีผสมขั้วการเมืองใหม่ และคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขยับกลับประเทศไทย วันที่ 10 ส.ค.นี้ เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดขับเคี่ยวกันระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมเร็วยิ่งขึ้น แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นอาจมีการปะทะทางความคิดของมวลชนของ 2 ขั้วการเมือง

รศ.ดร.พิชาย บอกว่า ใช่ มีความชัดเจนมากขึ้นในการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ คุณทักษิณกลับมา ด้านหนึ่งมองว่า ตัวคุณทักษิณยังเป็นศูนย์รวมทางซีกอนุรักษ์นิยม

คาดดึงมวลชนทางซีกอนุรักษ์นิยมมาเป็นจุดแข็ง เพื่อร่วมต่อสู้กับซีกเสรีนิยม และในอนาคตทั้ง 2 พรรคต้องต่อสู้ทางการเมือง ช่วงชิงสนามการเมืองแน่นอน

“สมมติ พท.จับมือ พปชร.-รทสช. แม้มีฐานอุดมการณ์เดียวกัน แต่การเลือกตั้ง พท.ไปสัญญากับประชาชนไม่จับมือ พปชร.-รทสช.

หากขืนยังไปร่วม พท.ย่อมถูกมองว่าทิ้งจุดยืนประชาธิปไตย ไปโอบรับเอาคนที่ไม่มีจุดยื่นประชาธิปไตยเข้ามาในอ้อมอก อาจถูกประชาชนตราหน้าเอาได้

มวลชนที่เป็นกลุ่มแดงประชาธิปไตยจะหันไปเข้าร่วมกับ ก.ก.มากขึ้น นอกจากมวลชนกลุ่มนี้ไม่พอใจแล้ว ยังมีมวลชนที่มีความคิดประชาธิปไตย และเสรีนิยมที่สนับสนุน ก.ก. ยิ่งไม่พอใจมากกว่า

มีความเป็นไปได้ว่า 2 กลุ่มนี้จะรวมตัวชุมนุม ฉะนั้น เมื่อไหร่ พท.สลัดทิ้ง ก.ก.ชัดเจน เมื่อนั้นอารมณ์ ความขุ่นเคืองที่คุกรุ่น จะเริ่มทะลักออกมา”

โดยการสลัดทิ้งมีหลายระดับ สูตรที่ 1 สลัดทิ้งโดยรักษาไมตรี ซึ่ง พท.จับมือพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ปชป. พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็ก ไม่เอา 2 ลุง ก็ยังอยู่ในเงื่อนไขของ ก.ก.ที่ตั้งรัฐบาลโดยไม่มี 2 ลุง มีโอกาสร่วมมือกันได้ในอนาคต มวลชนแม้นขุ่นเคืองระดับหนึ่ง ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่พอไปได้

พท.เลือกทางนี้ตอบสนองผู้มีอำนาจแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งไม่ตอบสนอง เพราะขั้วอำนาจเดิมที่มี สว.ไม่ได้รับการตอบสนอง แต่แน่นอนสูตรนี้มีนัยว่า ก.ก.ต้องยกมือให้

สูตรที่ 2 ตัดบัวไม่เหลือเยื่อใย แตกหักประกาศตัวเป็นปรปักษ์โดยตรง เอา 2 ลุงเข้ามา หรือแนวโน้มตอนนี้เอาแค่ 1 ลุงเข้าร่วม ไม่อาศัยเสียง ก.ก.

ปฏิกิริยามวลชนจะรุนแรง ระดับความขัดแย้งสูง

และพลวัตความขัดแย้งในสังคมไทย ช่วงถัดไป จะเคลื่อนตัวจากความขัดแย้งของตัวบุคคล เชื่อมไปสู่ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์มากขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง

ถ้าเราสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่มีความรุนแรงไปได้ ก็จะไปสู่สถานการณ์ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย ต่อสู้ในกติกา ซึ่งทุกประเทศในการพัฒนาทางการเมืองก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าเป็นเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม เมื่อยอมรับในหลักประชาธิปไตย ใช้การเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัด

การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้เป็นการพัฒนาการเมืองอย่างไร รศ.ดร.พิชาย บอกว่า จุดที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ในประวัติศาสตร์หลายประเทศเกิดความรุนแรง

ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำแข็งกร้าว รักษาอำนาจตัวเองเอาไว้ ก็นำไปสู่การนองเลือด ท้ายสุดมันก็เปลี่ยนแปลงวันยังค่ำ แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

ฉะนั้น ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์โลก ฝ่ายอนุรักษ์นิยม จุดยืนของชนชั้นนำต้องลดท่าทีแข็งกร้าว ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกระจายทรัพยากร กระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น

ถ้าประคับประคองไปได้ ย่อมทำให้สังคมไม่ปะทะกัน

ประเทศนั้นๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติสุข.

ทีมการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม