นิติทันสมัย! กฎหมายไซเบอร์ตรวจเข้มมิจฉาชีพออนไลน์ กำจัดบัญชีม้า บัญชีเสี่ยง ก่อนถูกหลอก ย้ำ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งผลักดันนวัตกรรมตรวจจับล้ำหน้าโจร และการโอนที่ผิดปกติให้เร็วขึ้น ลดเวลาการแจ้ง
วันที่ 30 ก.ค. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ เพื่อดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างจริงจังและเด็ดขาด และหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเข้มข้น จากที่ผ่านมาได้มีการผลักดัน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 เพิ่มอำนาจการยับยั้งธุรกรรมที่อาจเป็นการหลอกลวงประชาชนได้ทันท่วงทีให้กับธนาคาร จากเดิมประชาชนที่โดนหลอกให้โอนเงิน ต้องไปแจ้งความกับตำรวจก่อน จึงแจ้งมายังธนาคารให้ดำเนินการอายัดบัญชี แต่ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวทำให้ธนาคารสามารถยับยั้งธุรกรรมได้ภายใน 72 ชั่วโมง สามารถลดการสูญเสียทรัพย์สินได้มาก จากปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส สถิติการแจ้งความร้องเรียนอยู่ที่ 600 รายการต่อวัน ลดลงจากวันละ 800 รายการ นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ สำหรับเรื่องร้องเรียนและคดีความเฉลี่ย 600 รายการต่อวันนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท 1. การหลอกให้โอนเงินในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์หลอกลวง ส่งข้อความฝังลิงก์สแกม หรือแฮกโทรศัพท์ และ 2. การขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซที่ไม่ตรงปก
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ระบบการระงับธุรกรรมของธนาคารปัจจุบันยังใช้แบบ manual โดยประชาชนที่ถูกหลอกลวงแจ้งไปยังธนาคารต้นทาง และธนาคารต้นทางแจ้งต่อธนาคารที่รับโอนเป็นทอดๆ กรณีมิจฉาชีพวางแผนมาอย่างดี เพียง 1 นาที อาจโอนออกไปได้หลายบัญชี ทำให้อาจระงับไม่ทันนั้น เรื่องนี้ สมาคมธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับการทำธุรกรรมผ่านธนาคารที่มีความปลอดภัยสูง และป้องกันการหลอกลวงผ่านออนไลน์ ที่เรียกว่า central fraud registry ซึ่งถ้าระบบดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถตรวจจับธุรกรรมผิดปกติได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องแจ้งเป็นทอดๆ เช่น การโอนเงินต่อเนื่องหลายบัญชี โอนไปในบัญชีเสี่ยง บัญชีม้าเหล่านี้จะถูกตรวจสอบทั้งระบบโดยอัตโนมัติ ทำให้ยอดการแจ้งความร้องเรียนอาชญากรรมออนไลน์ลดลงได้อีก
...
“พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ในทุกมิติ ให้ครอบคลุมและล้ำหน้ามิจฉาชีพ ทั้งการป้องกัน ปราบปราม การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนให้ได้” น.ส.ทิพานัน กล่าว.