ลองว่าไม่ได้มันก็คงไม่ได้ ไม่ว่าจะเสาะแสวงหาวิธีการใดๆ ก็ไปไม่ถึงจุดนั้นได้ กำลังพูดถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหารประเทศไทย
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตจาก “ก้าวไกล” ที่พาดเป้าจากการโหวตครั้งแรกมาแล้ว และพยายามที่จะผลักดันครั้งที่ 2
ก็ยังเจอแรงต้านจากข้อกฎหมาย ที่ระบุว่าไม่สามารถยื่นให้รัฐสภาพิจารณาได้ เนื่องจากเป็นญัตติที่ถูกตีตกมาแล้ว
จะยื่นซํ้าในสมัยประมุขเดียวกันไม่ได้
ระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาเรื่องนี้ ก็มีเหตุซ้อนขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวพันกับ “พิธา” โดยตรงคือเรื่องคุณสมบัติ
“หุ้นสื่อ”...
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 รับคำร้องของ กกต.ที่ขอให้มีคำสั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตามรัฐธรรมนูญ ม.82
เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องที่ กกต.ร้องมานั้น ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของ “พิธา” อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้ง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสำคัญของที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
จึงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยและให้ “พิธา” ชี้แจงภายใน 15 วัน
มติ 4 ต่อ 1 เห็นว่ากรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายพิธาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดในวันรับสมัครเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้ง สส. และเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพ สส.ของนายพิธาสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ กกต.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม.82 ว่าสมาชิกภาพของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ ม.101(6) ประกอบ ม.98(3) หรือไม่จากเหตุที่มีชื่อถือครองหุ้นบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น
...
เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ม.82(4) ประกอบ(1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ม.75
เรื่องก็เป็นไปอย่างนี้...
แบบว่าศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกอย่างใดอย่างนั้น
ซึ่งแน่นอนว่ากรณีนี้ แม้จะอ้างกันว่านี่เป็นเรื่องคุณสมบัติ สส. ไม่เกี่ยวกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังสามารถโหวต
แต่มองลึกลงไปมันคงแยกไม่ออกอย่างนั้น
เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า มีความผิดจริงไม่ได้เป็น สส.ก็จริง แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความผิดติดตัวอย่างนี้
ก็คงอยู่ในตำแหน่งไม่ได้!
อีกทั้งฝ่ายที่ไม่นิยมชมชอบ ซึ่งไม่โหวตให้อยู่แล้วด้วยประเด็น ม.112 บวกกับเรื่องนี้เข้าไปอีกก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก
เพราะถ้าผิดจริง อาจจะต้องเจอมรสุมลูกใหญ่ คือการถูกตัดสิทธิทางการเมือง อย่างที่มีการลงโทษนักการเมืองมาแล้ว
อย่างน้อยก็ 10 ปีขึ้นไป
นี่เป็นบทเรียนสำหรับนักการเมือง ที่ควรพึงจำไว้เป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องรอบคอบ ตรวจสอบให้ชัดเจนในเรื่องคุณสมบัติ
จะไปโทษใครก็ไม่ได้!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม