ญัตติคืออะไร กลายเป็นข้อสงสัยของประชาชนไทยหลายคน หลังจากที่ได้ชมถ่ายทอดสดโหวตนายกฯ แล้วได้ยินคำศัพท์ “ญัตติ” กันบ่อยครั้ง ไทยรัฐออนไลน์เปิดความหมาย ญัตติคืออะไร มีกี่ประเภท 

ญัตติ คืออะไร เปิดความหมายคำศัพท์จากสภา

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักวิชาการ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ญัตติ” ว่า ญัตติ (Motion) คือ ข้อเสนอที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ญัตติ เสนอได้ทั้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา จะมีผู้รับรองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม

ในขณะเดียวกัน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายไว้ 4 ความหมาย ได้แก่ 

  • น. คำสวดประกาศเป็นภาษาบาลี เสนอให้ที่ประชุมสงฆ์ทราบเพื่อทำกิจของสงฆ์ร่วมกัน, คำเผดียงสงฆ์ ก็ว่า (ป.).
  • (กฎ) ข้อเสนอเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกิจการของสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ (ป.).
  • น. ข้อเสนอเพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ (ป.).
  • น. หัวข้อโต้วาที เช่น โต้วาทีในญัตติว่า ขุนช้างดีกว่าขุนแผน. (ป.).

นอกจากนี้ มีการให้ความหมายคำว่า "ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป" ไว้ว่า (กฎ) น. มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ฝ่ายนิติบัญญัติใช้ควบคุมและตรวจสอบฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารใช้ประโยชน์จากฝ่ายนิติบัญญัติในการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายนิติบัญญัติ

สรุปคำว่า “ญัตติ” ความหมายเข้าใจง่ายโดยทั่วกัน คือ ข้อเสนอที่เสนอขึ้นเพื่อให้มีการลงมติหรือดำเนินการปฏิบัติต่อไป 

...

รู้จักประเภทของญัตติทั้ง 2 ประเภท

เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ได้ระบุไว้ว่า จากการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 แบ่งประเภทของญัตติไว้ 2 ประเภท ดังนี้ 

1. ญัตติที่ต้องเสนอเป็นหนังสือ
ญัตติประเภทนี้ คือ ญัตติที่จะต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานยื่นเสนอ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

2. ญัตติที่ไม่ต้องเสนอเป็นหนังสือ
ญัตติประเภทนี้ สามารถเสนอญัตติได้ด้วยวาจาในห้องประชุมหรือสภา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการประชุม เช่น ญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม ญัตติขอให้เลื่อนการปรึกษาหรือพิจารณา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :