แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่นหนังสือคัดค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องพิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส. ของ “พิธา” และพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ 112 ล้มล้างการปกครอง
วันที่ 18 ก.ค. 2566 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการอาคารเอ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 และไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีพรรคก้าวไกลใช้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ระบุว่า หลายประเทศทันทีที่ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 1 สัปดาห์ ก็จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มีเพียงประเทศไทยที่ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รัฐบาล เพราะประเทศไทยมีสิ่งผิดปกติทางการเมือง ที่ผ่านมาได้เรียกร้องไปยัง กกต.ให้เร่งประกาศผล พร้อมกับปัดตกคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการถือหุ้นไอทีวีของ นายพิธา วันนี้ชัดเจนแล้วว่า นายพิธา ถือหุ้นไอทีวี ในฐานะผู้จัดการมรดก และโอนให้น้องชายเรียบร้อยแล้ว ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ ไม่มีอิทธิพลในการใช้สื่อเพื่อการหาเสียง หรือมีผลต่อการได้รับชัยชนะของ นายพิธา กกต.เร่งรีบผิดปกติ มีการประชุมเร่งด่วนเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก่อน 1 วัน ก่อนโหวตเลือกนายกฯ
...
การทำหน้าที่ของ กกต.มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย อาจเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย เนื่องจาก กกต.มีที่มาจาก ส.ว.และ ส.ว.มาจากคณะรัฐประหาร ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การรัฐประหารถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องไต่สวนพฤติกรรมของ กกต.ด้วย ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยหรือไม่
นอกจากนี้ การร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ วิญญูชนย่อมเข้าใจว่าคำร้องเหล่านั้นเป็นคำร้องที่ใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต เป็นการใช้กฎหมายเพื่อทำลายล้างประชาธิปไตย มีเจตนาแฝงเร้นในการทำลายพรรคการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ การแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะต้องนำเสนอต่อประชาชน และเป็นกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ การรับคำร้องดังกล่าวมาวินิจฉัย จะถือเป็นการแทรกแซงทำลายกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภา และเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชน ดังนั้น การยุบพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ย่อมทำให้สมาชิกของพรรคการเมืองนั้นถูกทำลายไปด้วย สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประชาชน ขัดต่อหลักนิติธรรมตามครรลองของประชาธิปไตย
นายสมยศ ยังกล่าวอีกว่า ในการอภิปรายโหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา มี ส.ส.และ ส.ว.หยิบยกมาตรา 112 มาอภิปราย ซึ่งอาจเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองได้เช่นกัน ทั้งนี้ การกระทำของ ส.ว.เป็นการกระทำให้กระบวนการประชาธิปไตยสะดุดหยุดลง ทำให้นายกฯ ที่ประชาชนเลือกมามีปัญหา ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ สะท้อนว่าขบวนการล้มล้างการปกครองได้เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนี้ด้วย โดยวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค. 66) เวลา 15.00 น. จะจัดกิจกรรมฌาปนกิจศพ ส.ว.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย เพื่อเรียกร้องให้ ส.ว.โหวต นายพิธา เป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผบก.น.2 เปิดเผยว่า ได้จัดเตรียมสถานที่ให้ใช้พื้นที่ลานหน้าเสาธงหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำหรับทำกิจกรรม โดยเว้นระยะห่างจากบริเวณที่ทำการศาลในรัศมี 50 เมตร โดยจัดกำลังตำรวจและกองร้อยน้ำหวาน หรือตำรวจควบคุมฝูงชนหญิง ประจำการรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ในแนวแผงเหล็กที่ตั้งไว้รอบบริเวณอาคารศูนย์ราชการ ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มผู้ทำกิจกรรมจะใช้เวลาไม่นาน และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เบื้องต้นได้สั่งเตรียมกำลังตำรวจ บก.น.2 และตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง คอยประจำการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย.
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย