กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบประชาชน เครือข่ายป่าชายเลนชุมชนภาคใต้ สร้างความเข้าใจโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน ลดก๊าซเรือนกระจก รับมือ เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไทย
วันที่ 18 ก.ค. 66 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวในขณะเป็นประธานเปิดโครงการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการป่าชายเลน สำหรับชุมชน และโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชนว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และแผนระดับต่างๆ รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งกำหนดเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้ ของประเทศให้ได้ 120 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2580
...
โดยมีมาตรการสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ การปลูกป่าเศรษฐกิจ และการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าและเผาป่า ซึ่งการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมีบทบาทสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน โดยได้ออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการป่าชายเลน สำหรับชุมชน พ.ศ. 2566 และระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 ซึ่งมีชุมชนที่สนใจยื่นแสดงความจำนงขอขึ้นทะเบียนโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชนแล้วจำนวน 58 ชุมชน เนื้อที่ 94,031 ไร่ และสำหรับบุคคลภายนอก จำนวน 14 หน่วยงาน เนื้อที่ 41,000 ไร่ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมสนับสนุนโครงการฯ ซึ่งขณะนี้บริษัทสยามทีซี เทคโนโลยี จำกัด และบริษัทสามลม จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ตนจึงได้สั่งการให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน (กปล.) เร่งลงพื้นที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ ประชุมชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชนแต่ละพื้นที่ได้รับทราบและเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว
นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวต่อว่า นับเป็นการตอกย้ำความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย และยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยในวันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการจัดประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการป่าชายเลน สำหรับชุมชน และโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชนขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการจัดทำโครงการฯ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์เพื่อระดมสมองและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ
โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต เวชกิจ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วม และนายโสภณ ทองดี อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน นายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (กระบี่) นายสมไชย เก้าเอี้ยน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (ตรัง) นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (พังงา) รวมถึงนายมนูญ คุ้มรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ และนายอภิสิทธิ์ เสนาวงค์ ผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และผู้แทนสมาชิกป่าชายเลนสำหรับชุมชนในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา สตูล ตรัง และกระบี่ เข้าร่วมประชุมจำนวน 250 คน ณ ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการบรรยายสร้างความรู้ ความเข้าใจ จากผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำโครงการป่าชายเลน สำหรับชุมชน โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน และสำหรับบุคคลภายนอก เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สุดท้ายนี้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดประชุมในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจในการดำเนินโครงการฯ โดยนำแนวทางหรือข้อปฏิบัติไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป "นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย"