นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล เสนอวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดี "เอลนีโญ" กระทบภาคเกษตรแน่ ปี 2567 ยิ่งต้องระวัง ชี้ ภัยแล้ง ฝนไม่ตก อาจกินเวลายาวไปถึงปี 2569 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย เช่น อุทกภัย และภัยแล้ง ในหลายภูมิภาคของโลก รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจเน้นในเรื่องของเกษตรกรรม

“ภาคเกษตรกรรม คือ เศรษฐกิจหลักของคนไทย รวมถึงคนภาคเหนือ มีทั้งข้าว ข้าวโพด สับปะรด สตรอว์เบอร์รี่ ลิ้นจี่ ลำไย และอื่นๆ ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า เรากำลังเผชิญกับเอลนีโญในสถานการณ์โลกร้อน ทำให้เจอกับภัยแล้งรุนแรงและยาวนานขึ้น

ในปี 2566 เราอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากนัก เพราะเรายังมีน้ำกักเก็บอยู่ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำพอสมควร แต่ปัญหาของเรา คือ ด้วยสถานการณ์ปกติ เราอาจวางแผนใช้น้ำปีต่อปีได้ แต่ในสถานการณ์เอลนีโญรอบนี้ เราจะเจอความแล้ง ฝนขาดช่วงไปอีกยาวนานอาจถึงปี 69

หมายความว่า น้ำที่มีอยู่ตอนนี้ ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี ปีหน้าเราจะเจอวิกฤติกันแน่ และผลกระทบอันดับแรกๆ ที่โดนแน่นอนคือภาคเกษตรกรรม

สำหรับภาคเหนือ ไม่ได้มีฝนตกชุกอยู่แล้ว ข้าวนาปรังน่าจะกระทบแน่ รวมถึงพืชอื่นๆ ตั้งแต่ปีนี้ไปควรวางแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อย และอาจต้องเตรียมงบเยียวยาเอาไว้สำหรับการห้ามทำเกษตรบางอย่างในบางช่วง นอกจากนี้ ต้องคุมราคาให้ดี เพราะข้าวเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมอาหารหลายชนิด ถ้าปล่อยให้ขาดแคลนหรือราคาสูง ก็จะยิ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คิดได้

นอกจากนี้ ข้อมูลและการสั่งการแบบบูรณาการเพื่อรับมือภัยพิบัติมีวามสำคัญมาก ดังที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ จะต้องมีการทำนายสภาพอากาศล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึงความล่าช้าและฝนทิ้งช่วงที่ลงถึงระดับตำบล เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถวางแผนได้

...

การจัดสรรน้ำ การเตรียมแผนสำรองน้ำ การกระจายงบประมาณการจัดการน้ำในชุมชนและไร่นา ยังคงเป็นมาตรการจำเป็นที่ต้องเร่งเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเร่งเก็บน้ำตั้งแต่ตอนนี้ เท่าที่เวลายังพอมี

ถ้าปล่อยถึงปีหน้าแล้วค่อยวางแผนจะยิ่งช้าเกินการณ์ เพราะเราเหลือช่วงเวลาหน้าฝนในปีนี้ให้กักเก็บฝนได้ไม่นานแล้ว”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบผู้บริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) โดยมีสาระสำคัญที่ได้หารือกัน คือ หากสามารถตั้งรัฐบาลสำเร็จ ต้องการการสนับสนุนส่งเสริมข้อมูลจาก GISTDA ให้มากขึ้น เช่น การแก้ปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง และการเยียวเกษตรกร โดยใช้ศักยภาพและประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศจาก GISTDA ในการสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการปัญหาสำคัญของประเทศ