ประชุมสภา กทม. บรรดา ส.ก. อภิปรายจี้เร่งรัดก่อสร้างป้ายรถเมล์แบบใหม่ รวมถึงขยายพื้นที่ Feeder ช่วยประชาชนเดินทางสะดวกและปลอดภัยขึ้น “ชัชชาติ” ชี้ เป้าหมาย 2,000 แห่งต้องดีขึ้น ลุยแก้เส้นเลือดฝอย

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดย นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตทวีวัฒนา เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง และศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม

เนื่องจากกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะพื้นที่เขตรอบนอกประชาชนได้รับความลำบากในการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ เพราะถนนบางสายในบางจุดไม่มีป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง หรือมีแต่ระยะห่างกัน และบางจุดไม่มีศาลาที่พักผู้โดยสาร ทำให้ผู้เดินทางได้รับความเดือดร้อน ต้องยืนตากแดดตากฝนรอรถโดยสารประจำทาง กรุงเทพมหานครจึงควรสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเพื่อพิจารณาให้บริการเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะ ให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยจากการใช้รถขนส่งสาธารณะ 

...

จากนั้น ส.ก.ร่วมอภิปรายในญัตตินี้หลายคน อาทิ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า รถ Feeder ที่ฝ่ายบริหารจัดไว้ให้มีประโยชน์มาก แต่พบว่ามีปัญหาการเดินรถไม่ตรงเวลา ต่อด้วย นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน อภิปรายว่า ในพื้นที่ธนบุรีมีศาลาผู้โดยสารที่มีปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างหลายจุด การกำหนดจุดป้ายรถโดยสารไม่มีความเหมาะสม บางแห่งมีเสาของรถไฟฟ้าบัง แต่ยังไม่มีการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารไปยังจุดที่เหมาะสม 

ต่อด้วย นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ระบุว่า เข้าใจว่าการกำหนดจุดจอดรถต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายหน่วยงาน หลายจุดต้องดูว่าป้ายรถโดยสารที่มีอยู่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายกับประชาชนจริงหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูว่าสิ่งที่มีอยู่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่หรือไม่ ส่วนนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก อภิปรายว่า ประชาชนฝากขอบคุณสำนักการจราจรและขนส่งที่ได้ไปตั้งป้ายรถเมล์ให้ใหม่กว่า 60 จุด แต่ยังขาดในเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง และการปรับระดับของศาลากับพื้นถนนให้เหมาะสม ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคต กทม.จะไม่มีที่พักผู้โดยสารชั่วคราวในลักษณะเต็นท์อีกต่อไป รวมถึงการปรับปรุงสัมปทานรถสองแถวโดยสารให้เป็นรถ EV และการเพิ่มเวลาเดินรถให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน

ขณะเดียวกัน นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และนางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม ได้ร่วมอภิปรายเพื่อให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการสำรวจเพื่อเพิ่มจำนวนศาลาที่พักผู้โดยสารและปรับปรุงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยให้กับประชาชนด้วย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ทางด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีการพูดถึงเส้นเลือดฝอย ทั้งเรื่อง ฟุตปาททางเท้า ทางข้าม สะพานลอยคนข้าม Feeder เป็นปัญหาจริงของประชาชน นโยบายเรื่อง Feeder และศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นนโยบายที่ต้องทำ เป้าหมายคือ 2,000 แห่งต้องดีขึ้น และจะเร่งดำเนินการ ขณะนี้ได้ทำรูปแบบ Prototype ออกมาแล้ว และจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ รวมถึงวางแผนในระยะยาวด้วย หาก ส.ก.มีข้อมูลจุดที่ต้องเริ่มดำเนินการให้ประชาชนสามารถแจ้งได้ และฝ่ายบริหารจะรับไปดำเนินการในทันที

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.

ขณะที่ รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในเรื่องของรูปแบบป้าย สำนักการจราจรและขนส่งได้ดำเนินการออกแบบมาเป็นศาลารูปแบบเสาเดี่ยว และรูปแบบขนาด S M L ขึ้นกับขนาดพื้นที่ รวมถึงติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและข้อมูลรถโดยสารที่จะผ่าน โดยแต่ละจุดจะพิจารณาจากลักษณะพื้นที่เป็นหลัก และคำนึงถึงข้อจำกัดในการก่อสร้าง อาทิ ทางเท้าแคบ บดบังอาคาร/ร้านค้า หรือติดระบบสาธารณูปโภค การเลือกจุดจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำหนดจุดป้ายที่พักผู้โดยสาร ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น กรมการขนส่งทางบก ตำรวจจราจร สำนักงานเขต รวมถึงข้อมูลประกอบจาก ส.ก.ในพื้นที่ ซึ่งในปี 2566-2567 จะมีศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 302 หลัง และจะเพิ่มจำนวนให้มากถึง 476 หลัง ในปี 2568.