"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" เริ่มรับราชการครู และได้รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่ โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี ต่อมาในปี พ.ศ.2512 ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) ปี พ.ศ.2518 เป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ) และเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมกันด้วย จากนั้นในปี พ.ศ.2521 ได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา

กระทั่งได้มาทำงานการเมือง โดยเริ่มในสังกัด พรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำ กลุ่มวาดะห์ ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และ พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา ก่อนจะย้ายไปเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2545 และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

...

ต่อมา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ.2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน กระทั่งในปี พ.ศ.2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ประวัติ วันมูหะมัดนอร์ มะทา

ประวัติการทำงานการเมืองของ "วันนอร์"

พ.ศ.2522 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยแรก ในสังกัดพรรคกิจสังคม
พ.ศ.2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พ.ศ.2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พ.ศ.2529 ร่วมกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “กลุ่มเอกภาพ” (กลุ่มวาดะห์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
พ.ศ.2531 นำกลุ่มวาดะห์ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน
พ.ศ.2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับ พรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ
พ.ศ.2533 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) กรรมการในคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
พ.ศ.2535 นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2) รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ.2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค)
พ.ศ.2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 6
พ.ศ.2538-2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พ.ศ.2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 7 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543)
พ.ศ.2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 8 และรับพระราชทานยศ นายกองเอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (สมัยที่ 2)
3 ตุลาคม 2545 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
28 ธันวาคม 2545 รับพระราชทานยศ นายกองใหญ่
10 มีนาคม 2547 รองนายกรัฐมนตรี
6 ตุลาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 9

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13

พ.ศ.2560 คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ในเดือน พ.ค. 2539 ขณะ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีบันทึกอ้างการจ่ายเงินอีกครั้งจำนวน 1.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงพนักงานของไทย โดยระบุว่า ยอดเงินดังกล่าวถูกแบ่งสรรไปยัง “กลุ่มผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเมืองที่ใช้มาตลอด” หลังจากนั้นในเดือน พ.ย. 2539 พนักงานของไทยคนเดิมเรียกร้องให้พนักงานระดับสูงของโรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินอีก 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากทั้งหมด 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ค้างจ่ายเพื่อให้ทางการไทยนำเงินดังกล่าวมาจัดการ “ในกระบวนการจัดการขั้นตอนทางการเมือง”

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ และได้เป็นบุคคลที่พรรคประชาชาติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ทั้งนี้ วันมูหะมัดนอร์ ยังคงเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติเช่นเดิม

หากกล่าวถึงบทบาทและการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มองว่ารัฐสภาเป็นสถาบันหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของประชาชน เท่าที่ผ่านมาความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐสภานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ อาจเป็นเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง คิดว่าเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วทุกอย่างก็จบ ไม่ค่อยมองเห็นบทบาทที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาทำงานในสภา ดังนั้น รัฐสภาจึงต้องมีบทบาทมากขึ้น ส่งเสริมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แสดงบทบาทตามที่ประชาชนคาดหมาย การประชุมสภาจะต้องกระชับและมีสาระมากกว่าเดิม

ตลอดระยะเวลาในฐานะผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้พยายามที่จะพัฒนาการประชุมสภาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รัฐบาลชุดนี้จึงมีคณะกรรมการประสานงานของสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล มีการประชุมทุกวันพุธ เพื่อประสานงานเรื่องระเบียบวาระ และร่วมกันพิจารณาเป้าหมายว่า การประชุมในแต่ละวันจะให้กฎหมายผ่านกี่ฉบับ และแต่ละฉบับน่าจะใช้เวลาอภิปรายกันนานเท่าใด ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมสภาก็เรียบร้อยขึ้น และสภามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาประชาชน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2540 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวเตือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาส่งเสียงรบกวนในห้องประชุม พร้อมประกาศว่า หากไม่เชื่อจะให้เจ้าหน้าที่สภาริบทันที

ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา มีทั้งการประชุมรัฐสภาและการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมหลากหลาย ทั้งการชี้แจงนโยบายการพิจารณากฎหมาย การพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การพิจารณางบประมาณ ความวุ่นวาย ขัดแย้ง และหวังได้เปรียบกันในการอภิปรายมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สามารถควบคุมบรรยากาศการประชุมให้ผ่านพ้นไปด้วยดีทุกครั้ง จนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชน

และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ ถูกจับตาอีกครั้ง หลัง พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอ นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นประธานสภา เพื่อเป็นตัวกลางยุติปัญหาดังกล่าวกับพรรคก้าวไกล และกลายเป็นคนกลาง หย่าศึกชิงตำแหน่งประธานสภา ของทั้ง 2 พรรคใหญ่ ก้าวไกล และเพื่อไทย อย่างไม่น่าเชื่อ 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ที่จังหวัดยะลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2512 ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2517