- ชี้ชัด "ประธานสภา" คือ หมุดหมายแรก "เพื่อไทย" โอกาส"ก้าวไกล-พิธา" จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ลดน้อยลง เกิดความไม่แน่นอน
- ฟันธง! การเมืองตอนนี้ ออกได้ทุกหน้า "รัฐบาลข้ามขั้ว" ก็เป็นไปได้ แต่ให้น้ำหนักไปที่ "อนุทิน" มากกว่า "บิ๊กป้อม" ต้องจับตา
- รอดู เลือก "ประธานสภา" หากชื่อ "สุชาติ ตันเจริญ" จริง แนะ โฟกัสปม เสนอชื่อ "ประธานสภา" ที่มาจากขั้วรัฐบาลเดิม จับตา ครั้งนี้ยังไม่ได้ยินชื่อเลย เชื่อ ม็อบมาแน่
แล้วก็คล้ายเหมือน "ฟ้าผ่า" เมื่อวานที่ผ่านมาหลังประชุมเสร็จ พรรคเพื่อไทยก็ออกมาร่วมแถลงข่าว ยืนยัน จุดยืนพรรคเพื่อไทย ต้องได้ตำแหน่งประธานสภา ย้ำหลักการเดิม เก้าอี้ 14 รมต.+1 พรุ่งนี้เตรียมหารือพรรคก้าวไกล ยันมีความจำเป็น และยังให้ความสำคัญในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตาม พอมีข่าวออกไปเมื่อวาน รองโฆษกพรรคก้าวไกล ก็มีการแจ้งสื่อด่วนกลางดึก ยกเลิกประชุมในวันนี้ทันที ระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย หากมีกำหนดการใหม่จะแจ้งให้ทราบ คาดมาจากเพื่อไทยยืนกรานต้องได้ตำแหน่งประธานสภา
...
สถานการณ์ร้อนแรง โดยเฉพาะฝั่ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล เหตุใกล้เวลาที่สภาจะเปิดแล้วในวันที่ 3 ก.ค. และคาดว่า 4 ก.ค. จะต้องเลือกประธานสภาแล้ว
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์หนทางการเมืองข้างหน้า กรณีเมื่อพรรคเพื่อไทย ยืนกราน กับ พรรคก้าวไกล แกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยจะต้องได้ตำแหน่ง "ประธานสภา" ให้ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
จะทำให้หนทางจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และความหวังของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ เป็นเช่นไร ลองไปดูกัน
"เพื่อไทย" ยืนยัน ต้องได้ตำแหน่ง "ประธานสภา" จะส่งผลต่อการตั้ง "รัฐบาลก้าวไกล" อย่างไร
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า แน่นอน ตำแหน่งประธานสภา คือ หมุดหมายแรก แล้วหมุดหมายแรกเป็นของพรรคเพื่อไทย ก็โอกาสที่พรรคก้าวไกล คุณพิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดความไม่แน่นอนแล้ว ตรงนี้โอกาสเราจะเห็นความแตกแยก 8 พรรครัฐบาลร่วมก้าวไกล ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ผมเคยชี้มานานแล้ว แม้ทางพรรคก้าวไกล กับ เพื่อไทย เคลียร์กันลงตัว แต่ระดับมุ้งมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้ววันนี้การเลือกประธานสภา มันเป็นเหมือน "กล่องพิศวง" คือ เป็นแบล็กบ็อกซ์ เป็นกล่องดำ ยิ่งกว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรี เรายังเห็น เป็นการโหวตแบบเปิดเผย ส.ส.คนนี้โหวตให้ใคร
"แต่การเลือกประธานสภา เป็นการโหวตลับ มันไม่สามารถรู้ได้เลย ใครโหวตให้ใคร เพราะโหวตลับไม่ใช่แบบกดปุ่มด้วย โหวตลับคือเดินไปกา เหมือนพวกเราเดินไปลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นไม่สามารถเช็กได้เลยว่า ใครลงคะแนนให้ใคร แล้วยิ่งมีการเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นประธานสภา อาจเสนอมาจากขั้วอำนาจเดิม แต่อาจเสนอคนจากในพรรคเพื่อไทย ทำให้สถานการณ์ใน 8 พรรคมีรอยร้าว แล้วในวันนี้เห็นได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค เป็นโครงสร้างรัฐบาลผสม ที่ขาดความสมดุล มีพรรคแค่อันดับ 1 คือ ก้าวไกล อันดับ 2 คือ เพื่อไทย พรรคอื่น เป็นพรรคต่ำกว่า 10 ทั้งนั้น ฉะนั้นโอกาสเรื่องมีปัญหา เกิดได้ง่าย เพราะก้าวไกลก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเพื่อไทย ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกล ถ้าเสียงแตกในระดับมุ้ง หรือมีการฟรีโหวตตั้งแต่ชั้นเลือกประธานสภา มันเป็นผลไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีแน่นอน แล้วเมื่อไม่มีพรรคอันดับ 3 ที่จะมารองรับ ไปดึงเอาพรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง อื่นๆ เพื่อมาผสมตรงนี้เป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นหมุดหมายแรกเลยครับ ที่ผมต้องจับตา" รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว...
ที่มองกันอาจเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว ที่มีชื่อ "บิ๊กป้อม" ผุดออกมาก่อนหน้า ก็มีความเป็นไปได้?
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวต่อว่า ผมว่าเป็นไปได้หมดนะครับตอนนี้ สมการเป็นไปได้หมด ให้ 50 ต่อ 50 ไม่ว่ากรณี คุณพิธา เป็นนายกฯ หรือจะเป็น บิ๊กป้อม หรือ คุณอนุทิน ก็เป็นไปได้หมดในเวลานี้ แต่ว่าผมว่า พล.อ.ประวิตร ถ้ามาก็มีคำถามใหญ่เรื่อง 2 ลุง เรื่องความชอบธรรมในการเมือง
ให้น้ำหนัก "อนุทิน" เป็นนายกฯ มากกว่า "บิ๊กป้อม"
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า ผมยังให้น้ำหนักน้อยกว่า "คุณอนุทิน" นะครับ "คุณอนุทิน" มีโอกาสมากกว่า เป็นพรรคอันดับ 3 ด้วย โฟกัสเฉพาะ ส่วนแกนนำพรรคเดิม ที่เป็นขั้วรัฐบาลเดิม ผมว่า คุณอนุทิน มีโอกาสมากกว่า แล้วก็จุดหนึ่งที่เราไม่ค่อยโฟกัสกัน กรณีการเสนอชื่อ "ประธานสภา" ที่มาจากขั้วรัฐบาลเดิม เรายังไม่ได้ยินเลยนะครับ
เมื่อปี 2562 ในเวลานั้น แม้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ยังมีการเสนอชื่อ คุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แม้จะโหวตไม่ผ่านรัฐบาลครั้งนั้น รัฐบาลนั้นแม้มีความขัดแย้งระหว่าง พปชร. กับ ปชป. แต่สุดท้ายจบลงที่ ปชป. ที่ชื่อ คุณชวน หลีกภัย แต่ฝ่ายค้านครั้งนั้นยังเสนอชื่อ คุณสมพงษ์ เลย แต่ครั้งนี้ขั้วรัฐบาลเดิมวันนี้เป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยอยู่ วันนี้เรายังไม่ได้ยินการเสนอชื่อ "ประธานสภา" สู้เลย ว่าจะเป็นใคร นี่ก็น่าสงสัย ว่า สุดท้ายจะมีการ "ฟรีโหวต" เสนอชื่อบุคคลในพรรคเพื่อไทย อย่างเช่น คุณสุชาติ ตันเจริญ ไหม
รอดู "ประธานสภา" จะเป็นใคร หาก "สุชาติ" ขึ้นมาจริง ก็มีโอกาสสูงเห็นสลับขั้วรัฐบาล
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า ก็เป็นไปได้หลายอย่าง ข้ามขั้วก็เป็นไปได้ หรืออาจจะไม่ข้ามขั้วก็ได้ เมื่อสุดท้ายโหวต คุณพิธา แล้วไม่ได้ ก็ยังเป็นรัฐบาล 8 พรรค แต่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน อย่าง คุณเศรษฐา ทวีสิน คุณอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นไปได้ เพราะอย่าลืมว่า การเลือกประธานสภา คือ หมุดหมายแรก เป็นหมุดหมายสำคัญในการชี้ทิศทางในการเลือกนายกรัฐมนตรี แม้เราจะบอกว่า จริงอยู่ ประธานสภาก็ไม่สามารถไปชี้ได้หรอกว่า ใครจะเป็นนายกฯ หรือพรรคไหนจะเป็นแกนนำ ประธานสภาไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนั้น เพราะเขาต้องมีเรื่องมติในสภา
ในทางการเมืองต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ประธานสภาจะทำได้ก็คือการอำนวยความสะดวกในการเลือกนายกรัฐมนตรี และในทางกลับกันก็คือการไม่อำนวยความสะดวกในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำได้ทั้ง 2 อย่าง ทั้งการสั่งพักการประชุม เลื่อนประชุม การบรรจุวาระต่างๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นการทำให้เป็นหมุดหมายสำคัญในการเลือกนายกฯ
ประการที่สอง มันเกี่ยวข้องกับระยะยาวนะครับ การเสนอกฎหมาย หรือนโยบายหาเสียงต่างๆ อาศัยการบรรจุวาระของประธาน ซึ่งพรรคก้าวไกลก็เคยประสบปัญหานี้ เสนอแก้ ม.112 แต่ก็ปรากฏว่า ท่านประธานสภาก็ไม่บรรจุวาระให้ ปัญหาระยะยาวที่พรรคแกนหลักต้องการตำแหน่งประธานสภานะครับ
ที่มองว่า แย่ง "ประธานสภา" เพื่อป้องกันไม่ให้ "ก้าวไกล" ถ้าโหวต "พิธา" ไม่ผ่าน ก็ไม่ให้โหวตซ้ำไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่
"ก็อย่างที่ผมบอกแต่แรก "ประธานสภา" มีหน้าที่อำนวยความสะดวกเลือกนายกฯ และไม่อำนวยความสะดวกก็ได้" รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว...
หาก "พิธา" ไม่ได้เป็นนายกฯ จริง ม็อบ จะมาแน่ใช่หรือไม่
รศ.ดร.ยุทธพร ยอมรับว่า ม็อบมาอยู่แล้ว อาจมีตั้งแต่วันเลือกประธานสภาเลย ไปล้อมสภาไว้ และวันเลือกนายกฯ ด้วย ผลออกมาอย่างไร ม็อบมาอยู่แล้ว ทั้งม็อบไปกดดัน หรือม็อบไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกที่ออกมา
เปิดขั้นตอน เลือกประธานสภา และรองประธานสภา
ประชุม สภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 4 ก.ค. เวลา 09.30 น. มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อายุ 89 ปี ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในสภาฯ ทำหน้าที่ประธานสภาฯชั่วคราว
1. การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการเชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานสภาและรองประธานสภา และเพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นจะต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนั้นด้วย
(ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมได้รับการเสนอชื่อ เป็นประธานสภาหรือรองประธานสภา ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม)
2. การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ให้ผู้ถูกเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุม ภายในระยะเวลาที่ประธานกำหนด โดยไม่มีการอภิปราย
(ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อ หลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ ให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม)
3. การเลือกรองประธานสภา ให้ทำลักษณะเดียวกันกับการเลือกประธานสภา ในกรณีที่สภามีมติให้มีรองประธานสภาสองคน ให้เลือกรองประธานสภาคนที่หนึ่งก่อน แล้วจึงเลือกรองประธานสภาคนที่สอง
4. เมื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภาได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภาแล้ว ให้เลขาธิการ ส่งสำเนาประกาศพระบรมราชโองการไปยังวุฒิสภาเพื่อทราบด้วย
ผู้เขียน:เดชจิวยี่
กราฟิก:ภัทร์ ศรีสุทธ