หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง มีรายงานข่าวว่ามีการพบปะหารือระหว่างพรรคก้าวไกล กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายครั้งเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตามนโยบายของพรรค ที่กำหนดว่าจะดำเนินการใน 100 วันแรก ของการเป็นรัฐบาล

มีรายงานข่าวการหารือกันระหว่าง อปท. คือสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคม อบต. แห่งประเทศไทย บางฝ่ายเสนอให้ อปท. ไม่อยู่ใต้การปกครองของกระทรวงมหาดไทย และเสนอให้จัดตั้ง อปท. มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง เป็นผู้กำกับดูแลแทน

น่าจะเป็นแนวความคิดที่ขัดแย้ง กับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะเพียงแต่ย้ายอำนาจการกำกับดูแล จากกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ “กระทรวง” ใหม่กำกับดูแลยังคงเป็นระบบการบริหารประเทศที่มี 3 ระดับ นั่นก็คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

การกระจายอำนาจ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดน่าจะยึดกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ กทม. มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการมาเกือบ 50 ปีแล้ว ขณะนี้มีผู้ว่าราชการ มีสภา กทม. แต่ไม่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซ้ำซ้อนกับผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ

กทม.ไม่มีเทศบาล ไม่มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่ซ้ำซ้อนกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เหมือนกับอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ เป้าหมายของการกระจายอำนาจ ถ้าสามารถทำได้ทั้ง ประเทศจะทำให้การปกครองประเทศมีเพียง 2 ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง และการปกครองส่วนท้องถิ่น

ไม่มีส่วนภูมิภาค มีแค่ส่วนกลาง กับส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก แต่ประเทศไทยจะต้องไม่รีบร้อน เพื่อเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด แต่ต้องเลือกตั้งเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อม ที่จะเป็น อปท. ขนาดใหญ่เหมือน กทม. เช่นอาจเริ่มต้นที่ภูเก็ต

...

รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อม และควรรับฟังความเห็นของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ผ่านการออกเสียงประชามติ เห็นด้วยหรือไม่ เป็นการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ให้ก้าวหน้าไปอีกก้าวใหญ่ ให้ทัดเทียมกับประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนา เช่น ญี่ปุ่น แต่ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะก้าวถึง ฝั่งหรือไม่.