นายกฯ เยี่ยมชม ความก้าวหน้าเครื่องไทยโทคาแมค-1 พร้อมเดินเครื่องเพื่อวิจัยพลังงานฟิวชันเครื่องแรกในอาเซียน ก.ค.นี้ ชื่นชมทีมนักวิจัยไทย-กำชับความร่วมมือทุกภาคส่วนสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เร่งพัฒนากำลังคน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (13 มิถุนายน 2566) เวลา 08.45 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์และรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับเครื่องโทคาแมค TT-1 (Thailand Tokamak I : TT-1) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันเครื่องแรกของไทย โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม

...

โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ได้ทําการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ชิ้นส่วนของเครื่องโทคาแมค HT-6M ที่ได้รับมอบจากสถาบันพลาสมาฟิสิกส์ ประเทศจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) ตามข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดําเนินไปเป็นองค์ประธานการรับมอบชิ้นส่วนดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และนวัตกรรมที่ได้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ ซึ่งจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทําให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยในอนาคตได้อีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะทำงาน ทีมนักวิจัยพัฒนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทุกฝ่าย ชื่นชมศักยภาพบุคลากรไทย ย้ำให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ พร้อมต่อยอดงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับคนไทย รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมกำชับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันพัฒนาต่อไป เร่งสร้างกำลังคนด้านเทคโนโลยีฟิวชัน พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เช่น การพัฒนาหลักสูตร การอบรมด้านเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เป็นต้น เพราะพลังงานฟิวชันนอกจากจะเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควันและมลพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้คน รวมถึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นขุมพลังงานที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานและภาวะโลกร้อนในอนาคต” นายอนุชา กล่าว

สำหรับเครื่องโทคาแมค เป็นเครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาฟิวชัน เลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงโดยใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลก โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้น และเพื่ออนาคตของคนไทย

ทั้งนี้ สทน. ได้เริ่มติดตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน และได้ทดลองเดินเครื่องไทยโทคาแมค-1 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยจะมีการเดินเครื่องอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2566 และภายใน 10 ปี จะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.