“พล.อ.ประวิตร” ห่วงชาวสวนปาล์ม ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกผันผวน กำชับกระตุ้นส่งออกน้ำมันปาล์มดิบกับอินเดียคู่ค้าสำคัญของไทย ระบายสต๊อกส่วนเกิน รักษาเสถียรภาพด้านราคาในประเทศ

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ระบุถึงความห่วงใยเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ที่ช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ทำให้ราคาปาล์มทะลายปรับตัวลดลงราวๆ กิโลกรัมละ 0.50 บาท จึงได้มอบหมาย พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการฯ ใน กนป. ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชนในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไทยอย่างต่อเนื่อง 

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวลดลง พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบและห่วงใย จึงมีการเร่งรัดให้ยกระดับความร่วมมือด้านปาล์มน้ำมันกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าปาล์มน้ำมันที่สำคัญของไทย โดยปี 2565 ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปยังอินเดียถึงร้อยละ 85 คิดเป็นมูลค่า 33,200 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกสินค้าน้ำมันปาล์มทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ประมาทในความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก แม้ในวันนี้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศจะอยู่ที่ 220,000 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่สูงนัก เป็นผลจากการเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปกว่า 600,000 ตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เพื่อลดสต๊อกน้ำมันปาล์มลงจาก 396,000 ตัน ในช่วงต้นปี โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการประชุม กนป. ที่มีมติเห็นชอบมาตรการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบโดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในอัตราไม่เกิน 2 บาทต่อกิโลกรัม ในวงเงิน 309 ล้านบาท ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเสนอขออนุมัติโครงการต่อ ครม. และขอความเห็นชอบจาก กกต. ต่อไป

...

ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบแนวทางให้ฝ่ายไทยพัฒนาความร่วมมือกับนักธุรกิจน้ำมันพืชของประเทศอินเดีย โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 นายนาเคศ สิงห์ (H.E. Mr. Nagesh Singh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย เข้าพบ พล.อ.ประวิตร ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีในนามรัฐบาลไทย ขอบคุณนักธุรกิจชาวอินเดียที่สั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศไทยในปี 2565 มากเกือบ 1 ล้านตัน และขอให้ผู้ประกอบการอินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 เพื่อระบายสต๊อกส่วนเกินที่เหลือใช้ และรักษาเสถียรภาพด้านราคาปาล์มนำ้มันและนำ้มันปาล์มดิบภายในประเทศไทย  

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ผู้บริหารสมาคมโรงสกัดน้ำมันพืชแห่งอินเดีย และ ดร.บีวี เมธา (Dr. B.V. Mehta) The Solvent Extractors’ Association of India พร้อมคณะนักธุรกิจจากอินเดีย เข้าพบ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ พร้อมด้วย ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล คณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันและพลังงานทางเลือกของรองนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดีย

ทางด้าน พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ฝ่ายไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่อนักธุรกิจอินเดีย และสนับสนุนให้มีการประสานงานกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มและหน่วยงานระดับปฏิบัติของไทยให้มากขึ้น โดยคณะนักธุรกิจอินเดียประกอบไปด้วย นายเซบาสเตียน เทเลอร์ (Mr.Sebastian Taylor) ผู้แทนของ Solidaridad ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่ดูแลการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในสินค้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และ ดร.สุเรช ม๊อตวานิ (Dr.Suresh Motwani) เลขาธิการ Asian Palm Oil Alliance ได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือในการส่งเสริมการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ คณะนักธุรกิจจากอินเดียได้ยื่นข้อเสนอในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านปาล์มน้ำมันกับอินเดีย พร้อมทั้งเชิญให้ฝ่ายไทยเดินทางไปร่วมงานนิทรรศการ GLOBOIL INDIA ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28-29 กันยายน 2566 ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย รวมถึงหารือถึงการจัดงานนิทรรศการ GLOBOIL ที่ประเทศไทยในปี 2567 ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการยกระดับความร่วมมือทางการค้าปาล์มน้ำมันกับอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ BRIC (Brazil Russia India China) ที่เป็นตลาดคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย.