เอลนีโญมาแล้ว นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันนํ้าและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามสถานการณ์นํ้าในภาคตะวันออกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศ ไทยเข้าสู่สภาพอากาศแบบเอลนีโญ ทำให้อากาศร้อนและแห้งแล้ง

ส.อ.ท.คาดหวังว่า รัฐบาลจะเร่งจัดการนํ้าให้มีใช้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากกรมชลประทานว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ฝนจะทิ้งช่วงถึงกลางเดือนกรกฎาคม

ถ้าเกิดเอลนีโญในประเทศ จะไม่ทำให้ฝนแล้งเฉพาะภาคตะวันออก เพียงไม่กี่จังหวัด แต่อาจลามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ โดยเฉพาะข้าวที่ต้องการนํ้าที่สุด ภาคอีสานอาจจะโดนภัยแล้งหนักที่สุด

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ไม่มีระบบชลประทานอย่างทั่วถึง ต้องพึ่งพา “เทวดา” เพื่อประทานนํ้าฝน ส่วนในภาคกลางส่วนใหญ่อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากมีระบบชลประทานอย่างทั่วถึง แต่อย่างไร ก็ตาม มีรายงานข่าวว่า แม้แต่จังหวัดชัยนาทก็ประสบภัยแล้ง

ชาวไร่อ้อยชัยนาทบางส่วนมีปัญหา ต้นอ้อยขาดนํ้าเริ่มแห้งเหี่ยวเพราะไม่มีฝนตกมาหลายเดือน ทั้งภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือการเกษตร ต่างรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ต้องช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เจ้าของฉายา “บิ๊กป้อม” ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยชูคำขวัญหาเสียงทำนองว่า “มีลุงป้อมต้องไม่มีฝนแล้ง ไม่มีนํ้าท่วม” ขณะนี้ดูเหมือนจะเงียบเฉยอยู่ หลังจากที่ต้องอกหัก แพ้เลือกตั้งยับเยิน อาจต้องทำใจหรืออาจจะรอ “ส้มหล่น” รอจัดตั้งรัฐบาล หากฝ่ายเสรีที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งไม่ได้

...

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเอลนีโญรอบนี้ อาจไม่แห้งแล้งแค่ปีสองปี แต่อาจลากยาวถึง 4-5 ปี เกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองมีปัญหา แม้พรรคฝ่ายเสรีนิยมจะชนะเลือกตั้ง ได้เสียงเกินข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจตั้งรัฐบาลไม่ได้ ภายในต้นเดือนสิงหาคม 2566 อาจลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2567 เพราะระบบการเมืองที่พิการ.