นายกรัฐมนตรี เชิญชวนคนไทยลดใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งประชาคมโลกลดมลพิษ เน้นย้ำประเทศไทยเดินหน้าตามโรดแมปและแผนปฏิบัติการขจัดขยะพลาสติกอย่างเข้มข้น

วันที่ 5 มิ.ย. 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 5 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในปี 2566 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ได้กำหนดการรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด การแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ในแคมเปญ #BeatPlasticPollution หรือ รักษ์โลกลดพลาสติก 

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เชิญชวนคนไทยและผู้ที่อาศัยในประเทศไทย ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ตระหนักถึงมลพิษที่เกิดจากพลาสติก ร่วมกันจำกัดและลดการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดูแลสิ่งแวดล้อม และส่งต่อโลกที่น่าอยู่ไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการทั้งระดับนโยบายและปฏิบัติการเพื่อให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศต่อที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศไทยจะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว แผนปฏิบัติการ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการมี โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนใช้เป็นแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การมีมาตรการภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การกำหนดมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก การจัดทำฐานข้อมูลพลาสติก โครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) โครงการ “จังหวัดสะอาด” และการสื่อสารความรู้ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และนักออกแบบ เป็นต้น

...

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกอย่างเข้มข้น ซึ่งขณะนี้ดำเนินมาเป็นระยะที่ 2 เพื่อความต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-65) ที่ประสบความเสร็จเป็นอย่างดี โดยประเทศไทยสามารถการลดใช้ถุงพลาสติกลงได้กว่า 148,699 ตัน ภายใน 3 ปี หรือลดลงร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีแผนปฏิบัติการ

สำหรับแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายสำคัญ 4 เป้าหมาย ได้แก่

1) ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมาย เช่น ขวดพลาสติก ฝาขวด และถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลงร้อยละ 100

2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100

3) ลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50

4) มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 เครื่องมือ