Bangkok Pride 2023 คึกคัก “พิธา-อิ๊งค์-ชัชชาติ” นักการเมืองแห่ร่วม ธงสีรุ้งโบกไสวใจกลางกรุง ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งตัวจัดเต็ม ชู 6 ข้อเรียกร้องสำคัญ “พิธา” มั่นใจ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านได้ใน 100 วันหลังเป็นรัฐบาล
ตั้งแต่เวลา 14.00 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2566 ที่สี่แยกปทุมวัน กลุ่มนฤมิตไพรด์ นำโดย น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จับมือภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ และหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน จัดงาน Bangkok Pride 2023 (บางกอกไพรด์ 2023) เพื่อเฉลิมฉลองในเดือนมิถุนายนที่ถูกกำหนดให้เป็นเดือนสากลแห่งความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) และเป็นวาระสำคัญที่ให้ชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลกต้องออกมาร่วมกันจัดกิจกรรมเดินพาเหรดแสดงถึงความภูมิใจ ทั้งกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมทุกมิติ
สำหรับกิจกรรม บางกอกไพรด์ 2023 ปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “BEYOND GENDER” โดยตั้งขบวนบริเวณหน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ท่ามกลางบรรยากาศอันคึกคักจากความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น LGBTQIAN+ ชายจริงหญิงแท้ อีกทั้งยังมีเหล่าศิลปิน ดารา นักแสดง นักการเมือง เซเลบริตี้ อินฟลูเอนเซอร์ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฯลฯ เข้าร่วมคับคั่ง โดยก่อนหน้าขบวนพาเหรดจะเริ่ม มีกิจกรรมการต่างๆ เช่น การลงทะเบียนพลเมืองสีรุ้ง เพื่อรับธงสีรุ้งที่ระลึก การเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานสมัครเข้าแต่งหน้าเพื่อแปลงโฉมตัวเองใหม่ให้เลิศหรู และการประกาศถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัด World Pride ปี 2028 ในไทยด้วย
...
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจร ถนนพระรามที่ 1 ขาออก ตั้งแต่ฝั่งโลตัสพระรามที่ 1 ถึงแยกราชประสงค์ เพื่อให้พาเหรดชาวสีรุ้งตั้งขบวน จากนั้นคณะผู้จัดงานได้กางธงสีรุ้งขนาดใหญ่ยักษ์ ความยาว 144.8 เมตร ลงบนถนนพระราม 1 โดยมีประชาชนที่ร่วมงานนี้เข้าไปอยู่ใต้ธงเพื่อร่วมจับธงขึ้นชูเป็นสัญลักษณ์ ขณะเดียวกันขบวนพาเหรดสีรุ้งก็เคลื่อนออกมุ่งหน้าผ่านแหล่งธุรกิจ ไปยังสถานที่จัดงานเวทีที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชดำริ โดยตลอดทั้งสองข้างทางที่ผ่าน มีผู้คนยืนรับชม ชูธงสีรุ้งขึ้นโบก พร้อมส่งเสียงเสียงกรี๊ดกร๊าดให้กำลังใจ กลุ่มแดร็กควีนหรือสาวสอง ที่พร้อมใจแต่งกายมาแบบจัดเต็ม นอกจากนี้ ในขบวนพาเหรดยังได้มีการแสดงออกด้วยการชูป้ายเรียกร้องต่างๆ 6 ข้อ ประกอบด้วย
ขบวนที่ 1 Community (ชุมชน) ขบวนสีม่วง บอกเล่าถึง Beyond Gender Binary นำเสนอความต้องการด้านสิทธิการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ที่รวมไปถึงกลุ่ม Intersex Trans และ Non-binary ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ใช้เพลงป๊อปสร้างสีสัน
ขบวนที่ 2 Purpose (เจตจำนง) ขบวนสีน้ำเงิน นำแนวเพลงฮิปฮอป แร็ป มาร่วมสร้างสรรค์โดยบอกเล่าถึงประเด็น My Body My Choice เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี คืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับพนักงานบริการและ Sex creator รวมถึงสนับสนุนเซ็กซ์ทอยถูกกฎหมาย สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและการยินยอมพร้อมใจในโรงเรียน รณรงค์สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เพื่อยุติวัฒนธรรมการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว
ขบวนที่ 3 Relationship (ความสัมพันธ์) ขบวนสีเขียว ใช้เพลงหมอลำเพิ่มสีสัน รณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวในกฎหมายสมรสเท่าเทียมและรัฐธรรมนูญ
ขบวนที่ 4 Environment (สิ่งแวดล้อม) ขบวนสีเหลือง บอกเล่าเรื่อง Peace and Earth เพื่อรณรงค์ปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากร ธรรมชาติ เพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ทุกเพศ นำเพลงแนวแจ๊สและบลูส์มาร่วมสร้างสีสัน
ขบวนที่ 5 Health (สุภาพ) ขบวนสีแสด สะท้อนเรื่องการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม โดยรณรงค์เรื่องสิทธิในการเข้าถึงการบริการทางแพทย์สำหรับทุกคน และสวัสดิการการยืนยันเพศ สำหรับบุคคลข้ามเพศ ใช้แนวเพลงเคป๊อป เจป๊อป และทีป๊อป
ขบวนที่ 6 Security (ความปลอดภัย) ขบวนสีแดง ใช้เพลงร็อกประกอบ บอกเล่าถึง I’m Home ยืนยันสิทธิในการมีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบปลอดภัยจากทุกภาคส่วน รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล และรณรงค์ให้มีการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ
สำหรับนักการเมืองและบุคคลสำคัญที่มาร่วมในกิจกรรม อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ตลอดจนว่าที่ ส.ส. และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยขบวนพาเหรด LGBTQIAN+ ได้มีการจัดกิจกรรมไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียจากเหตุสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ช่วงที่ผ่านหน้าวัดปทุมวนาราม และแยกราชประสงค์ ก่อนเข้าสู่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อแสดงกิจกรรมแบบเวทีต่อไป
นายพิธา ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มงานว่า ดีใจที่มีงาน Bangkok Pride เป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วทั้งโลกเห็นว่าความรักทุกรูปแบบในสังคมไทยเป็นไปได้ และเป็นการส่งสัญญาณว่าความรักจะชนะในหลายๆ เรื่องในสิ่งที่โลกไม่เคยคาดคิดถึงมาก่อน การเฉลิมฉลองในวันนี้ไม่ใช่เป็นแค่ขบวนพาเหรดหรือการแสดงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ตนก็พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และสวัสดิการเพื่อความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้การเฉลิมฉลอง ไม่ใช่แค่ Pride Month แต่คือ Pride Always จริงๆ เมื่อถึงตอนนั้นคนทั่วทั้งโลกก็จะมองประเทศไทยว่าเป็นพื้นที่เปิดเผยได้ ปลอดภัย และเป็นอิสระในการให้คนแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
“หวังว่า World Pride ปี 2027-2028 ที่เคยจัดขึ้นที่ซิดนีย์ หรือวอชิงตัน ดี.ซี. จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองเอเชียเมืองแรก ผลพวงทางเศรษฐกิจ เงินสะพัด 2-3 หมื่นล้านที่ซิดนีย์ภายใน 17 วัน เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในที่สุด”
ส่วนเรื่องกฎหมายทั้งสมรสเท่าเทียมและ พ.ร.บ.คู่ชีวิต นายพิธา ระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร สามารถผลักดันต่อได้ทันที แม้แต่วิปรัฐบาลในขณะนั้นยังมีมติให้ผ่านทั้ง 2 กฎหมาย การผ่านทั้ง 2 กฎหมายไม่ใช่เรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่เป็นการให้สิทธิประชาชนว่าอยากใช้ชีวิตรักแบบไหน อยากมีความสัมพันธ์กันระดับที่เป็นคู่ชีวิตหรือคู่สมรส ถ้ากฎหมายผ่านทั้ง 2 ฉบับ ก็จะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน พร้อมมั่นใจว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะผ่านได้ภายใน 100 วันแรกของการเป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน.
(ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี และ วัชรชัย คล้ายพงษ์)