รองโฆษกรัฐบาล เผย กยศ. เปิดให้ นักเรียน-นักศึกษา ยื่นกู้ฯ ออนไลน์ได้ ผ่านแอป “กยศ. Connect” และเว็บไซต์ ถึง 31 ก.ค. 66 นี้ จัดเตรียมวงเงินกู้ยืมกว่า 4 หมื่นล้าน สำหรับนักเรียน-นักศึกษา กว่า 6.4 แสนราย กู้ยืมใน 4 ลักษณะ
วันที่ 25 พ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญด้านการศึกษากับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้นให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมทั่วหน้า ผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ได้เปิดระบบให้กู้ยืมเงินประจำปีการศึกษา 2566 โดยนักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืมรายใหม่สามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” หรือทางเว็บไซต์ กยศ. ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 และสำหรับผู้กู้ยืมเงินรายใหม่/รายเก่า ต้องยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันเบิกเงินกู้ยืมถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ผู้กู้ยืมจะได้รับเงินค่าครองชีพเดือนแรกภายใน 30 วัน นับจากวันที่สถานศึกษาทำการตรวจสอบยืนยันข้อมูล และแนบเอกสารการกู้ยืมของผู้กู้ยืมในระบบ DSL เรียบร้อยแล้ว และสถานศึกษาจะต้องจัดส่งเอกสารการกู้ยืมที่ถูกต้องและครบถ้วนให้ธนาคาร เพื่อกองทุนจะโอนเงินในงวดถัดไป
สำหรับการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 กองทุนได้จัดเตรียมวงเงินกู้ยืมกว่า 40,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา กว่า 640,000 ราย ที่ขอกู้ยืมใน 4 ลักษณะ ได้แก่
ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลักษณะที่ 2 ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ลักษณะที่ 3 ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และลักษณะที่ 4 เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ (ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตและปริญญาโท) และกองทุนจะเป็นหลักประกันให้กับทุกครอบครัวว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เพราะความยากจนจะไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาอีกต่อไป โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th
"กยศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพ ระหว่างศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวะศึกษา และระดับ อุดมศึกษา ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครอง และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติโดยรวม โดยมุ่งหวังว่าผู้กู้ยืมจะสามารถเล่าเรียนได้จนสำเร็จตามหลักสูตร มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมถึงมีจิตสำนึกในการชำระหนี้คืนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้องต่อไป" นางสาวรัชดา กล่าวย้ำ.
...