ผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ “พรรคก้าวไกล” ได้รับความไว้ใจจากประชาชนส่วนใหญ่ “กวาดที่นั่ง ส.ส.เป็นอันดับ 1” คว้าชนะการเลือกตั้งด้วย 113 ที่นั่ง คะแนนบัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่งรวมเป็น 152 ที่นั่งได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้

แต่ว่าตาม “รัฐธรรมนูญ 2560” การเลือกนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลกำหนดให้ที่ประชุมรัฐสภาที่มี ส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน ลงมติเห็นชอบ 376 เสียงขึ้นไป ทำให้พรรคก้าวไกลต้องจับมือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ รวมเป็น 313 เสียง

แต่ก็ขาด 64 เสียงที่ต้องหาเสียงจาก ส.ส.ที่เหลือ หรือ ส.ว.เพิ่มอีกจึงจะเป็นรัฐบาลได้ เรื่องนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ บอกว่า

นับจากหลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้วก็เข้าสู่ “การจัดตั้งรัฐบาล” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ที่ประชุม ส.ส. ส.ว.มีมติเห็นชอบ “แต่งตั้งนายกฯ” ที่ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งเกิน 376 เสียงขึ้นไป

...

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ทว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง” ทำให้พรรคได้ที่นั่งสูงสุดต้องหาพรรคร่วมให้ได้เสียงข้างมาก “ตรงนี้การต่อรองควรนำนโยบายเป้าหมายการทำงานให้ประชาชนเป็นที่ตั้งมากกว่าใช้ตำแหน่งมาต่อรองกัน” แล้วพรรคเสียงข้างมากต้องพยายามจัดตั้งให้เรียบร้อยเร็วที่สุดหลังวันเลือกตั้ง

สิ่งสำคัญ กกต.ต้องเร่งรับรองผลการเลือกตั้ง “เพื่อประโยชน์ประเทศ” ถ้าปล่อยล่าช้าอาจเกิดเหตุแทรกซ้อนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้จนนำมาสู่โอกาสการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยการอาศัย ส.ว. 250 เสียง อาศัยการตัดสิทธิหรืออาศัยการยุบพรรคการเมืองเพื่อดึง ส.ส.จากพรรคนั้นชิงจัดตั้งรัฐบาล

ถ้าย้อนดู “กระบวนการได้มาของ ส.ว.” มักถูกกล่าวถึงออกแบบมาเพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารชัดเจน “ด้วยการให้อำนาจเลือกนายกฯในวาระแรก 5 ปี” เป็นการแสดงเจตนาต้องการให้ ส.ว. 250 ท่านเป็นหลักประกันแห่งอำนาจของรัฐบาลสืบทอดอำนาจจาก “คสช.” หลังการเลือกตั้งอย่างน้อยอีก 2 วาระ

สิ่งนี้ไม่เป็นไปตามแผนนั้น “ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในหมู่ ส.ว. 250 คน” ก็มีบางท่านยึดถือความถูกต้อง ยึดถือหลักการประชาธิปไตย และยึดถือเจตนารมณ์ของประชาชนหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ “โดยไม่ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจอย่างเดียว” เพราะอยากให้ประเทศเดินหน้าต่อไปด้วยความสงบเรียบร้อย

ทั้งยังเดินตาม “ประชาชนเสียงข้างมาก” จากกลไกการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง กลายเป็นกระแสสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหลังอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยมามากกว่า 8 ปี

เหตุนี้ทำให้ “การจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกฯ 376 เสียง” เป็นกับดักที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐประหารไม่สามารถเกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ยาก ขณะเดียวกันการที่ ส.ว.ยังมีอำนาจเลือกนายกฯอยู่ก็ทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลมีความยุ่งยากซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา

ตอกย้ำ “ตำแหน่งนายกฯ” หากเป็นพรรคฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าเป็นอันดับ 1 พรรคก้าวไกล หรืออันดับ 2 พรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลก็ไม่มี ปัญหาอะไร เพราะถ้าพรรคอันดับ 1 จัดตั้งไม่ได้ก็เป็นหน้าที่ของพรรคอันดับ 2

แล้วหากเกิดการผสมข้ามขั้วกับพรรครัฐบาลปัจจุบันต้องอธิบายฐานเสียงตัวเองให้ได้ว่า “ทำไมถึงต้องทำเช่นนั้นเพราะเจตนารมณ์ของประชาชน” ต้องการให้พรรคการเมืองประชาธิปไตยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

แต่หากว่า “พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลที่แพ้เลือกตั้ง” พยายามจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างน้อยอาศัยเสียง ส.ว.นั้นแบบนี้มองว่า “เสียงประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่มีความหมาย” หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่จุดนั้นจริงๆ “อาจเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง” นำไปสู่การชุมนุมบนท้องถนนเกิดความวุ่นวายอย่างยากที่จะคาดเดาได้

ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ “ประชาชนจะเดือดร้อนกันหมด” ทั้งยังเป็นกระบวนการไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน “ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และอ่อนแอ” สร้างปัญหาต่อระบบพรรคการเมือง เพราะอาจจะมีการซื้อ ส.ส. ต่างขั้วทุกๆครั้งที่มีการโหวตอันเป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาตามมาด้วย

สิ่งที่อยากเรียกร้องขอให้ “พรรคการเมือง 30 พรรค” รักษาสัญญาประชาคม 8 ข้อที่ให้ไว้กับประชาชนผ่านองค์กรประชาธิปไตย และภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย คือ 1.เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองมีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

ข้อ 2. นำนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง 3. ร่วมกับทุกพรรคการเมืองออกเสียงประชามติถามประชาชนเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ 4.สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 3 จชต.เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบรรลุข้อตกลงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ถัดมาข้อ 5.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในการตัดสินใจเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นอย่างเพียงพอ

ข้อ 6.ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำทุกด้าน ที่ควรมีนโยบายการดูแลผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ สนับสนุนแรงงานนอกระบบ รวมถึงลูกจ้างส่วนราชการ และลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบการประกันสังคม

ข้อ 7.กำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งโดยหน้าที่มิชอบ และเคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ 8.สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศเปิดโอกาสให้ได้เป็นผู้นำทางการเมือง

สุดท้ายฝากถึง “รัฐบาลชุดใหม่” อยากให้แก้ปัญหาค่าครองชีพ และเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในการเพิ่มรายได้ กระจายความมั่งคั่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมลพิษทางอากาศ รวมถึงลงทุนระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจกายภาพ ลงทุนนวัตกรรม และงานวิจัย

เริ่มจาก “การจัดสรรทรัพยากรทุน” อันเป็นปัจจัยการผลิตอื่น เช่น ที่ดิน ความรู้ บริการพื้นฐานที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะการเข้าไม่ถึงที่ดิน และปัจจัยการผลิตอื่นอย่างไม่เหมาะสม ทำให้กิจการขนาดเล็ก หรือประชาชนไม่อาจเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมลดลงตามมา

ส่วน “นโยบายสาธารณะที่ดี” ต้องออกแบบให้ระบบสถาบันการเงินมีแรงจูงใจ หรือสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนมีความสามารถสูงใช้บริการได้อย่างสะดวก แล้วการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นขาดการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมภายในที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออกล้วนเป็นเทคโนโลยีต่างชาติที่ซื้อมาทั้งสิ้น

ถ้าหาก “สร้างขึ้นมาเอง หรือพัฒนาต่อยอด” จะเป็นนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ แล้วหาก “รัฐบาลใหม่” ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลาง “อาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไก” ต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสมให้มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีผลิตภาพสูง

นอกจากนี้ “ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540” ที่กำลังมาถึงขีดจำกัดต้องปฏิรูป “ปรับโครงสร้างอีกรอบ” เพื่อเป็นฐานการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า “รัฐบาลใหม่” ต้องเอาใจใส่นโยบายประชานิยม ควบคู่กับนโยบายสวัสดิการสังคมในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

โดยเฉพาะ “นโยบายประชานิยมสวัสดิการที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี” ตามโครงสร้างสังคมสูงวัย และตามสภาพที่เรียกว่า “เป็นกับดักประชานิยม” หากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อฐานรายได้ใหม่คาดว่าไทยจะเผชิญปัญหาวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต เพราะนโยบายมาตรการบางอย่างอาจสร้างความอ่อนไหวทางการเมือง

ฉะนั้น  ควรต้องมีการพิจารณาทบทวนให้เหมาะสมตามฐานะทางการเงินการคลังของประเทศด้วย

ย้ำว่า “สิทธิจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นตามฉันทามติของประชาชน” ถ้ายังลากตั้งดันทุรังไม่เคารพเสียงประชาชนอาจนำเข้าสู่ “วังวนวิกฤติการเมือง” สุดท้ายเจ็บกันทุกฝ่ายแล้วประเทศก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้.