ภาคประชาชน ร่อนแถลงการณ์เรียกร้อง "ครม.ประยุทธ์" โชว์สปิริตหยุดปฏิบัติหน้าที่ เซ่นปม พ.ร.ก. ขวาง พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ สร้างความเสียหายหนัก จี้ ป.ป.ช.ฟันพ้นตำแหน่งทั้งคณะ สร้างบรรทัดฐานการเมือง
วันที่ 24 พ.ค. 66 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรื่อง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการต้องแสดงความรับผิดชอบการออก พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญ ใจความว่า
"จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดเลื่อนการใช้พระบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 4 มาตรา ที่คณะรัฐมนตรีออกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ด้วยเหตุผลว่า การอ้างความไม่พร้อมด้านงบประมาณและบุคลากรไม่เข้าเงื่อนไขในการออกพระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้ไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสามนั้น
กรณีดังกล่าวภาคประชาชนได้คัดค้านตั้งแต่แรกว่า การอ้างความไม่พร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยสาธารณะของประเทศที่รัฐบาลจะสามารถออกพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ได้ สอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) จึงขอเรียกร้องต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการที่เกี่ยวข้องทุกคนให้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการกระทำดังกล่าว ซึ่งหากยังเป็นรัฐบาลปกติต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง แต่สถานะรักษาการในปัจจุบันคณะรัฐมนตรีรักษาการควรแสดงสปิริตหยุดการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาราชการแทน รวมทั้งขอโทษประชาชนที่ได้กระทำการดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้
...
การกระทำของคณะรัฐมนตรี นอกจากเป็นการไม่เคารพต่อพันธกรณีที่รัฐมีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่เคารพต่อหลักนิติรัฐ-นิติธรรม และไม่ให้คุณค่าความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังถือเป็นพฤติการณ์ “จงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรงของข้าราชการการเมืองและข้าราชการระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย่อมทราบถึงการกระทำดังกล่าวอยู่เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการถอดถอนคณะรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงผู้เกี่ยวข้องทุกคนจากตำแหน่งตามหน้าที่และอำนาจตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 บัญญัติไว้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองต่อไป".