การจัดตั้งรัฐบาลคืบหน้าไปอีกก้าวสำคัญ ที่ประชุมคณะผู้นำ 8 พรรค มีมติให้จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกัน โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลที่มี ส.ส.สนับสนุน 313 คน เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทน ราษฎร แต่ยังขาดอยู่ 63 เสียง จึงจะได้ 376 เสียง ที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อาจมาจาก ส.ส. หรือ ส.ว.
เมื่อตั้งรัฐบาลสำเร็จ จะกลายเป็นรัฐบาลผสม 8 พรรค หรืออาจมากกว่านั้น พรรคก้าวไกลเพียงแต่ได้ ส.ส.มากที่สุด คือ 152 เสียง จะต้องได้อีกราว 100 เสียง จึงจะเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
เมื่อเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงต้องร่วมกันจัดอันดับความสำคัญในการบริหารประเทศ และจัดทำนโยบายรัฐบาลร่วมกัน ตามหลักการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง พรรคก้าวไกลไม่สามารถเดินหน้าลุย 300 นโยบาย ภายใน 100วัน ตามที่เคยประกาศ ต้องร่วมกันจัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง เริ่มต้นด้วยปัญหาปากท้อง
มีคำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ ให้รัฐบาลใหม่ระวัง “ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ” เช่น หนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งสูง เป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะ และค่าครองชีพของประชาชน ขณะเดียวกัน องค์กรภาคธุรกิจเอกชนได้เรียกร้องรัฐบาลใหม่ ให้สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งภายในและทั่วโลก
เรื่องที่พรรคก้าวไกลจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง คือการดำเนินนโยบายด้านการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112 น่าจะต้องชะลอไปก่อน จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถ้าเดินหน้าอย่างเดียวโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจถูกคว่ำ ในสภาฯหรือถูกชุมนุมวุ่นวาย
การปฏิรูปการเมืองที่สามารถทำได้ทันที และเชื่อว่าจะได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาล คือการให้มีการลงประชามติ ถามประชาชนทั่วประเทศ เห็นด้วยหรือไม่ ในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นประชาธิปไตยแท้
...
การออกเสียงประชามติ จะสร้างความชื่นชมยินดีให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายเสรีนิยม เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้คำกล่าวที่ว่า การปกครองหรือรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน กลายเป็นจริงได้.