การเมืองไทยไม่ลงตัวมากว่า 100 ปี ถ้านับตั้งแต่กบฏหมอเหล็ง เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ทำให้ประเทศเสียโอกาสไปมากและสะสมปัญหาต่างๆจนประเทศไทยติดอยู่ใน “หลุมดำ” แห่งวิกฤตการณ์เรื้อรังออกมาไม่ได้ จนมีผู้พูดว่า “คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง”
คือ...รอถูกเชือดหมดทุกตัว แต่ยังจิกตีกันอยู่ร่ำไป
ที่จะออกจาก “เข่ง” ได้ ต้องรู้ว่า เข่งคืออะไร? และรวมตัวกัน ออกจากเข่ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี มองว่า หลังเลือกตั้งพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.มาจำนวนมาก พวกหนึ่งก็รวมตัวกันเป็นรัฐบาล อีกพวกหนึ่งก็เป็น ฝ่ายค้าน แล้วก็เป็นไปคล้ายๆเดิม ไม่สามารถพาชาติออกจากวิกฤติได้
กุญแจที่จะพาชาติออกจากวิกฤติ คือ ผู้นำทางการเมืองที่มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ขับเคลื่อน P4 ...พรรคเล็กหลายพรรคมีผู้นำทางการเมืองที่เข้าข่ายหรือมีศักยภาพ มีความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ผู้นำเหล่านี้แม้คนเดียวหรือ 3-4 คน รวมตัวกันขับเคลื่อน P4 ก็จะพาชาติออกจากวิกฤติได้
...
P4 ก็คือ Participatory Public Policy Process หรือ “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” นั่นเอง
นโยบายสาธารณะเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลกระทบอย่างถึงขั้น “หายนะ” หรือ “วัฒนะ” ขึ้นอยู่กับว่าดีหรือไม่ดี
“ประเทศไทยเกือบไม่มีความสำเร็จในเรื่องนโยบายเลย ประเทศจึงวิกฤติ ที่ไม่สำเร็จก็เพราะขาดความเข้าใจในระบบนโยบายครบวงจร ทำเป็นส่วนๆหรือบางส่วน นโยบายไม่ใช่สโลแกนหรือทำเรื่องจิปาถะแบบแจกเงิน ผู้นำทางการเมืองไม่ใช่ผู้บริหารจิปาถะอย่างที่ทำๆกัน แม้ขยัน ประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ”
ผู้นำที่แท้ต้องนำการขับเคลื่อน “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ “P4”... เป็นกระบวนการที่คนทุกภาคส่วนในสังคม มีส่วนในกระบวนการนโยบายทุกขั้นตอนครบวงจร
จึงเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง...เป็นกระบวนการสร้างปัญญาร่วม...เป็นกระบวนการจัดการที่ทรงพลัง
เมื่อทำครบวงจรก็จะสำเร็จทุกเรื่อง จึงเรียกว่า “สัมฤทธิศาสตร์”... เมื่อประเทศมีความสำเร็จในนโยบายทุกเรื่อง วิกฤติชาติก็ยุติ....“เมื่อผู้นำพรรคเล็กนำการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะ ก็เท่ากับ การสร้างประชาธิปไตยที่แท้ สร้างประชาธิปไตยอรรถประโยชน์มีผลสำเร็จใหญ่โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาล”
เพราะการเมืองคือระบบนโยบายที่ใครๆควรมีส่วนร่วมโดย ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล แต่รัฐบาลจะร่วมทำด้วยก็ได้
หัวหน้าพรรคการเมืองควรศึกษาวิธีขับเคลื่อนระบบนโยบายจนเข้าใจแจ่มแจ้ง พรรคการเมืองของท่านจะกลายเป็นสถาบันพัฒนานโยบาย และสมาชิกพรรคจะกลายเป็นนักขับเคลื่อนระบบนโยบาย
เมื่อ “พรรคการเมือง” กลายเป็นสถาบันพัฒนานโยบายและ “นักการเมือง” กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนระบบนโยบาย จะ...พลิกโฉมประเทศไทย
และ...เมื่อคนไทยทั้งประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ประเทศก็จะมีพลังมหาศาลที่จะเคลื่อนไปข้างหน้านำนโยบายสู่การตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งจะค่อนข้างง่ายเมื่อผ่านกระบวนการข้างต้นมาแล้ว
...นำนโยบายที่ผ่านการตัดสินใจทางการเมืองมาแล้ว มาบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ ภายใต้การขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน...ซึ่งจะแยกย่อยเป็น การสังเคราะห์นโยบาย 4 ขั้นตอน, การตัดสินใจนโยบาย 1 ขั้นตอน, การบริหารจัดการนโยบายไปสู่ความสำเร็จ 7 ขั้นตอน
เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ...ก็จะสำเร็จทุกเรื่อง ไม่มีอะไรไม่สำเร็จ
จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า...“สัมฤทธิศาสตร์” เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสู่ความสำเร็จ ที่คนทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อมมาบรรจบกัน
นี่คือ...คำตอบประเทศไทย
“...ที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่มีผู้นำที่มีความเป็นผู้นำสูงสามารถทำได้โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาล แต่สร้างกระบวนการใหญ่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ รวมทั้งรัฐบาลด้วย”
นี่คือ “ประชาธิปไตยทางสายกลาง” ที่ไม่แยกข้างแยกขั้วเป็นปฏิปักษ์ต่อกันซึ่งไม่ได้ผลแล้ว แต่เป็นทางสายปัญญาไมตรีจิต เป็นความร่วมมือ ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์มหาศาล และพลังแห่ง ความสุขของคนไทยทุกคนร่วมกัน
ถึงตรงนี้ ศ.นพ.ประเวศ ขออวยพรให้คนไทยสร้างความเป็น ธรรมได้สำเร็จ ซึ่งการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทยให้สำเร็จเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ ดูสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ได้รับรางวัลโนเบลจำนวนสูงสุด ขณะนี้เหลื่อมล้ำสุดๆ
“การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม” เป็นวิถีทางหนึ่ง
“การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี” เป็นอีกวิถีทางหนึ่ง อาจทำทั้งสองวิธีก็ได้
ย้ำว่า...อุดมคติเป็นสิ่งดีแต่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาเชิงระบบ และการจัดการที่ดีด้วย การเรียนรู้ที่ดีเป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์
เพราะมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุด สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้
การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เป็นธรรมะเพื่อความเจริญ หรือ อปริหานิยธรรม ที่พระพุทธองค์ทรง สรรเสริญเป็นอันมาก แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมะเพื่อความไม่ฉิบหาย”
ตอกย้ำ “ความเป็นธรรม” คือสิ่งใหม่ที่ดี ที่ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ว่าไม่ดี จึงสามารถรวมตัวกันทำได้ถ้ามีการเรียนรู้ร่วมกันในการ ปฏิบัติ นอกจากข้อดีที่กล่าวมาแล้วยังเกิด ปัญญาเชิงทัศนะ
คือ...เห็นทั้งหมด หรือเห็นช้างทั้งตัว ออกจากสภาพ “ตาบอดคลำช้าง” ที่รู้เห็นช้างเป็นส่วนๆแล้วทะเลาะกันยกใหญ่เพราะรู้เห็นต่างกัน แต่ถ้าตาไม่บอดคือทัศนะดีเห็นช้างทั้งตัว ก็ไม่มีอะไรจะทะเลาะกันเพราะส่วนต่างล้วนเป็นของช้างตัวเดียวกัน
องค์รวม เช่น คน ก็ต้องมีทั้งแขนซ้ายและแขนขวา
เครื่องบินที่จะบินได้ ก็ต้องมีทั้งปีกซ้ายและปีกขวา
“ถ้ามีทัศนะองค์รวม ซ้ายกับขวาก็ไม่มีอะไรจะต้องมาตีกัน เพราะต่างเป็นขององค์รวมเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับ ขวาบางครั้งก็ฆ่าแกงกันอย่างน่าสลดสังเวช จะถึงคราวสิ้นสุดลงด้วยปัญญาเชิงทัศนะ”
ปัญญาเชิงทัศนะจะพลิกโฉมประเทศไทย การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี สามารถสร้างทัศนะใหม่ได้...สู่ความเป็นธรรม ไม่มีการ แบ่งข้างแบ่งขั้วและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
เมื่อถึงเวลานั้น “คนไทย” ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ล้วนเป็นเพื่อน ร่วมชาติ ไม่มีใครชังชาติ เราต้องร่วมกันเดินทางสู่อนาคตที่ดีของเราร่วมกัน.