ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ พรรคการเมืองที่ถือว่าพ่ายแพ้อย่างยับเยินจนถึงขนาดที่ท่านหัวหน้าพรรคประกาศลาออกในกลางดึกระหว่างนับคะแนน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง
ล่าสุด ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของ ประชาธิปัตย์ ทั้งประเภทแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ เหลืออยู่เพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น กลายเป็นพรรคเล็กไปเลยทีเดียว
ที่สำคัญยังเป็นตัวเลขต่ำที่สุด นับตั้งแต่จัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้นมา (ปี 2500 เคยได้ 31 ที่นั่งทั่วประเทศ)
ดังนั้นเมื่อเวลา 23.30 น. ของคืนวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ผลการเลือกตั้งออกมาพอสมควรจนเป็นที่คาดหมายได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องสูญเสียที่นั่งไปในหลายๆพื้นที่ รวมทั้งในภาคใต้ที่เคยเป็นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ด้วย
เราจึงได้อ่านโพสต์ผ่านกลุ่มไลน์ของพรรคประชาธิปัตย์จากท่านหัวหน้าพรรค คุณ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“พร้อมนี้ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำหน้าที่เพื่อพรรคต่อไป สำหรับผมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ผมพร้อมอยู่เคียงข้างพรรคเสมอ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตการเมืองของผมครับ”
แสดงถึงสปิริตของคนที่รับหน้าที่เป็นแม่ทัพโดยแท้จริง เมื่อกองทัพแพ้พ่าย ก็ไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งต่อ
ในฐานะสื่อมวลชนรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกับพรรคการเมืองในอดีตมาพอสมควร ผมยอมรับว่าอ่านทั้งข่าวความพ่ายแพ้และโพสต์ลาออกของท่านหัวหน้าพรรคแล้ว ก็รู้สึกใจหายอยู่ไม่น้อย
นึกไม่ถึงว่าพรรคที่เคยครองใจคนไทยที่มีการศึกษาดี หรือที่เรียกกันว่า ปัญญาชน ในยุคหนึ่งนั้น จะต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้
...
ในยุคโน้น ครูบาอาจารย์ หรือผู้จบการศึกษาสูงๆ มาจากต่างประเทศ หรือเป็นข้าราชการระดับสูง หากจะหันเหไปเล่นการเมือง ก็จะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นี่แหละ
เวลาไปพูดจาปราศรัยตามหัวเมืองใหญ่ๆที่มีความเจริญ ก็จะมีผู้คนมานั่งฟังมืดฟ้ามัวดิน
การเปิดตัวหาเสียงของพรรคในแต่ละสมัยการเลือกตั้งในอดีต จะเริ่มขึ้นที่ สนามหลวง และจะไปตบท้ายที่ สนามไชย
ยุคเป็นฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ค้านได้อย่างสุดยอด เพราะมี ส.ส.ที่อภิปรายได้เก่ง ฉาดฉาน ข้อมูลดี ลีลาเด็ด หลายต่อหลายท่าน
รวมทั้งนักอภิปรายฉายา “มีดโกนอาบนํ้าผึ้ง” เช่น คุณ ชวน หลีกภัย ที่ในยุคโน้น เวลาอภิปรายออกทีวีจะเรียกเรตติ้งได้อย่างกระฉูด
พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดอ่อนอยู่บ้างในช่วงที่มาเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วม หรือเป็นในฐานะแกนนำก็ตาม
แม้จะมีผลงานดีๆเยอะ แต่ก็มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้ต้องยุบสภากลางคัน เช่น กรณี สปก.4.-01 ก็เคยมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราหวนกลับไปดูประวัติศาสตร์ก็มีหลายๆช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ตกตํ่า แพ้ยับเยิน แม้ใน กทม.ที่เป็นจุดแข็งของพรรค
แต่ในที่สุดก็หวนกลับมาได้หลังจากไปค้นหาสมาชิกพรรคใหม่ๆที่มีชื่อเสียงมาช่วยกอบกู้พรรค
ผมก็ได้แต่หวังว่าการพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยในครั้งนี้จะไม่ถึงกับทำให้บรรดาสมาชิกสูญเสียกำลังใจ
ขอให้ไปประชุมสัมมนาเปิดใจค้นหาสาเหตุของการพ่ายแพ้ที่แท้จริงออกมาให้ได้ แล้วก็พยายามกำจัดจุดอ่อนดังกล่าวไปทีละเล็กละน้อย
ผมยังเชื่อว่าสักวันหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาได้เหมือนเดิม
อย่าลืมว่าความสำเร็จของประชาธิปัตย์ในอดีตคือการเป็นพรรคฝ่ายค้านนะครับ...คราวนี้ได้รับเลือกตั้งมาน้อย
และโอกาสเป็นฝ่ายค้านก็สูงมาก ก็ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอาจชนะใจคนไทยจนสามารถกลับมาลุกยืนฟื้นตัวได้ใหม่ในเวลาไม่นานเกินรอ
ขอให้กำลังใจครับ.
“ซูม”