หลุดพ้นวังวนความขัดแย้ง 17 ปีที่ผ่านมา สลายตรงนี้ให้ได้เริ่มที่สภาผู้แทนราษฎร

เป็นวลีที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. เน้นย้ำก่อนผลการเลือกตั้งออกมา ส่งสัญญาณถึง ส.ส. 500 คนที่กำลังเดินเข้าสภา เพราะตลอดระยะเวลาที่หาเสียงมีความพยายามแบ่งขั้วการเมือง ฝ่ายหนึ่งถูกเรียกเป็นอนุรักษ์นิยมและอีกฝ่ายที่เป็นเสรีนิยม แบ่งเป็นขั้วความคิดที่แตกต่างหรือหลากหลาย เป็นสิ่งที่มีในระบอบประชาธิปไตย

ดอกไม้หลากสีย่อมงามงดเสมอ

เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีรากแก้ว รากฝอย กิ่งก้านสาขา ดอกผล เช่นเดียวกับบ้านเมืองหรือการตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรมีหลากหลายขั้วความคิด หารือด้วยเหตุผลและสันติ เพื่อร่วมนำพาประเทศ

ถ้าทำลายราก ต้นไม้ก็ตาย แต่ถ้าเอารากไว้ ไปลิดรอนกิ่งก้าน ดอกผล ต้นไม้ถึงไม่ตายมันก็ไม่งดงาม เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ไม่ควรหักรากถอนโคน ไม่ควรลิดรอนกิ่งก้าน ดอกผล

การเมืองที่เป็นจริง บ้านเมืองที่เป็นจริงในระยะเปลี่ยนผ่าน อันนี้มีความสำคัญ ควรหารือร่วมกันอย่างให้เกียรติกันและกัน ไม่ตั้งต้นด้วยการประณามหยามเหยียด

...

อนุรักษ์–เสรีนิยมต้องเดินไปด้วยกัน

หลังเลือกตั้งไม่แน่ใจมันสลายไปได้หรือไม่ ทั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่หลายพรรคการเมืองประกาศขึงตึง ร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมกับพรรคใด กับบุคคลใด

ทำให้การเมืองในสภาค่อนข้างขึงตึง สุดท้าย 17 ปีที่ขัดแย้งหรือเอาแค่ 4 ปีที่ผ่านมา กลับมาอยู่แค่ขั้วรัฐบาลและขั้วฝ่ายค้านเดิม พอกลับคำย่อมมีปัญหาต่อฐานเสียงนิยม

250 ส.ว.โหวตนายกฯจะอย่างไร นายคำนูณ บอกว่า วุฒิสภาครบวาระเดือน พ.ค.67 ซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯเป็นครั้งสุดท้าย

ขอย้อนกลับไปดูการโหวตนายกฯ ครั้งแรกปี 62 ส.ว.ไม่มีความกดดัน เพราะทุกคนเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ แม้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตนายกฯ 2-3 ครั้งก็ไม่ผ่านวาระแรก มี ส.ว.เห็นชอบมากสุดราว 30-40 คน ไม่ถึง 84 คนตามเงื่อนไข

ฉะนั้นหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 เปิดประชุมรัฐสภา พิจารณาเลือกนายกฯ มีสมาชิกรัฐสภา 750 คน ซึ่งเป็น ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน

ส.ว.โหวตเลือกใครขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในวันนั้น!!

คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) มีโอกาสหารือถึงบทบาทที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ หรือหารือถึงการโหวตนายกฯ อย่างไร นายคำนูณ บอกว่า ไม่พูดในวิปวุฒิ

แต่พูดนอกรอบกันบ้าง มีความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย ถือเป็นความงดงามอย่างหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่รู้ผลการเลือกตั้ง ไม่รู้ปรากฏการณ์จัดกลุ่มพันธมิตรของพรรคการเมือง ที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ การพูดคุยคงแตกกระจาย ไม่สามารถนำมาเป็นประเด็นได้ ขณะนี้ทุกอย่างอยู่ในการคาดการณ์ทั้งสิ้น

เมื่อมีประเด็นเหล่านี้เข้าที่ประชุมรัฐสภา ส.ว. ถือว่าเป็นอิสระในการใช้วิจารณญาณที่จะลงมติ ไม่มีการครอบงำกัน

บางพรรคการเมืองเสนอให้ 250 ส.ว.ต้องสนับสนุนขั้วการเมืองที่รวมเสียง ส.ส.เกิน 250 เพื่อเคารพอำนาจของประชาชนที่เลือก ส.ส.เข้ามา นายคำนูณ พาย้อนอดีตไปดูประเพณีทางการเมือง บางครั้งพรรคการเมืองจับกลุ่มได้จนถึงวันเลือกประธานสภา และเลือกนายกฯ ก็จบไป

“บางครั้งจับกลุ่มแล้วแม้ได้เสียงข้างมากตอนแรก เลือกประธานสภาไปแล้ว สุดท้ายสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป วันเลือกนายกฯ มีเหตุพลิกผัน

จำได้ไหมปี 2526 พรรคที่ได้เสียงข้างมาก ไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะบางพรรคเปลี่ยนมติไปจับกับกลุ่มใหม่และเลือกคุณอุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคก้าวหน้าให้เป็นประธานสภา ซึ่งพรรคก้าวหน้ามีแค่ 3 เสียง สุดท้าย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ อีกสมัย

ไม่ได้บอกว่าครั้งนี้จะเกิดขึ้นอีก ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น แค่ชี้ให้เห็นถึงประเพณีทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น มันเป็นธรรมชาติที่จะปกครองประเทศได้ ต้องเป็นเสียงข้างมากในสภา

หรือกรณี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มี 18 เสียง ยังเป็นนายกฯได้ เพราะพันธมิตรสนับสนุนมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา
กรณีนายกฯ คนนอก ก็ขอให้เลิกคิดถึง เพราะเจอ 2 สเต็ป เริ่มจากขอปลดล็อกจากประธานรัฐสภาใช้เสียง 376 คน และปลดล็อกในที่ประชุมรัฐสภาใช้เสียง 500 คน จาก 750 คน”

ฉะนั้นครั้งนี้คนที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ต้องได้ 376 เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ในขณะนี้มีคำถามมากมายถึง ส.ว.จะโหวตอย่างไร วิธีการดีที่สุด ส.ส.ต้องเป็นเอกภาพ ไม่ต้องคำนึงถึง 250 ส.ว.

ส.ส. 500 คน รวมกันให้ได้ 376 เสียง

โหวตแคนดิเดตนายกฯ คนใดคนหนึ่ง

เมื่อโหวตแล้วบางพรรคอาจไม่ประสงค์ร่วมรัฐบาล ตอบโจทย์ที่เชื่อว่าอันนี้เป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ข้อเสนอนี้อาจเกิดขึ้นยาก เพราะพรรคการเมืองเริ่มตั้งเงื่อนไขมากขึ้น ทำให้การจับกลุ่มมีปัญหา

ฉะนั้นทำให้เสียงของ ส.ว.มีความสำคัญอยู่ โดยทั่วไปเชื่อว่า ส.ว.ทุกคนตั้งใจ และต้องการโหวตให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาเป็นนายกฯ

“แต่ผมเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า คงไม่สามารถตอบเช่นนี้ได้ 100% เพราะอยากเปิดพื้นที่ไว้ให้ ส.ว.ทุกคนได้ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายหน้างาน

ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ส.ว.ต้องเลือกระหว่างใครกับใคร เสียงข้างมากในสภาเสนอชื่อใคร พันธมิตรเสียงข้างมากเป็นใคร ส.ว.คงดูทั้งตัวแคนดิเดตนายกฯ นโยบายของเสียงข้างมาก เพื่อใช้วิจารณญาณอย่างดี

ทำให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง ไม่เสี่ยงเกิดวิกฤติ”

เหมือนวุฒิสภาเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ส่งชื่อมาจากคณะกรรมการสรรหาและนัดวันโหวตเลย

ต้องตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบประวัติ ความประพฤติทางจริยธรรม 30-60 วันแล้วแต่กรณี หรืออาจมีการต่ออายุพิจารณาออกไปอีก หลายครั้งที่โหวตไม่ให้ความเห็นชอบ เพราะมีบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่สะดวกใจที่โหวตให้ ก็เข้าสู่กระบวนการสรรหาเข้ามาใหม่

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกรณี ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีทั้งสาย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ และสายอิสระ นายคำนูณ บอกว่า เป็นเรื่องที่วิเคราะห์กันไป ในความเป็นจริงคงมีมูลบ้าง

เพราะบังเอิญที่มาของวุฒิสภาชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ในขั้นตอนสุดท้าย เป็นธรรมดาที่มีผู้คิดว่าเป็นสายโน้นสายนี้ แต่หากดูวุฒิสภา ลงมติในวาระสำคัญๆ มีหลายมติที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และหลายกรณีลงมติสวนทาง กับความเห็นของรัฐบาลในขณะนั้น ขอให้ดูเหตุผลที่ ส.ว.ตัดสินใจดีกว่า

วิธีแก้ที่ดีที่สุด ส.ส. 376 คน โหวตนายกฯ-ปิดสวิตช์ ส.ว.

250 ส.ว.เป็นด่านที่ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ถือแต้มต่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายคำนูณ บอกว่า ขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้งว่าได้กี่เสียง ถ้ารวมเสียง ส.ส.ไม่ถึง 250 เสียง ต่อให้ ส.ว.เลือกจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร ส่วนที่เลือกนายกฯ ให้ได้ก่อนแล้วทำให้ครบทีหลัง ถือเป็นอีกกรณีหนึ่ง

การโหวตนายกฯ ครั้งนี้ถึงอย่างไรก็สำเร็จ แม้อาจไม่สำเร็จในครั้งเดียว ไม่ได้หมายความว่าการเมืองถึงทางตัน

ทุกอย่างเห็นชัดตั้งแต่ก่อนวันเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้งต้องประกาศผลภายใน 60 วัน เมื่อได้ ส.ส. 95% ภายใน 15 วัน สภาประชุมนัดแรก วันเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง เป็นการโหวตเปิดเผย ชัดเจนว่าพันธมิตร 2 ฝ่ายเป็นอย่างไร

โดยปกตินายกฯ เป็นคนฝ่ายเดียวกับประธานสภา

แต่ตามประวัติศาสตร์อยู่คนละฝ่ายเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นายกฯไม่จำเป็นต้องอยู่พรรคเสียงข้างมากที่สุดในสภา.

ทีมการเมือง