กกต. เผยขั้นตอนรายงานผลเลือกตั้ง 2566 รู้คะแนนชุดแรก 18.45 น. เป็นต้นไป และทราบผลภาพรวมอย่างไม่เป็นทางการไม่เกิน 23.00 น. พร้อมส่องวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คิดอย่างไรพรรคไหนได้กี่เก้าอี้
วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผย 6 ขั้นตอน การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อย่างไม่เป็นทางการ ภายหลังปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะมีการเปิดหีบออกเพื่อนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งสีม่วง เลือก ส.ส.แบบแข่งเขตเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งสีเขียว เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ (พรรคการเมือง)
6 ขั้นตอนรายงานผลเลือกตั้ง 2566
1. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ถ่ายภาพแบบรายงานผลการนับคะแนน ส.ส. 5/18, ส.ส. 5/18 (บช.) ส่งเข้ากลุ่มไลน์ศูนย์รวมคะแนนอำเภอ
คณะกรรมการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า (ในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักร และที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ) ส่งรายงานผลการนับคะแนน ส.ส. 5/16, ส.ส. 5/16 (บช.), ส.ส. 5/17, ส.ส. 5/17 (บช.) ให้ศูนย์รวมคะแนนเขตเลือกตั้ง
2. ศูนย์รวมคะแนนอำเภอและศูนย์รวมคะแนนเขตตรวจสอบความถูกต้องแล้วบันทึกลงในระบบ ECT REPORT
3. ระบบ ECT REPORT จะจัดเก็บข้อมูลผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด และในภาพรวมทั้งประเทศ คาดว่าจะทราบคะแนนชุดแรกได้ตั้งแต่เวลา 18.45 น. เป็นต้นไป และจะทราบคะแนนทั้งหมดไม่เกิน 23.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทั้งนี้ จะเผยแพร่ผลคะแนนไม่เกินร้อยละ 95 ของหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง
...
4. สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) นำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งสองแบบ ไปจัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ผ่าน www.ectreport.com
5. สื่อมวลชนเชื่อมโยงข้อมูลผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการจาก สวข. เป็นไฟล์ CSV ผ่านทาง Google Share Drive เพื่อไปเผยแพร่ในแต่ละช่องทาง
6. ประชาชนสามารถติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ ได้ 4 ช่องทาง ดังนี้
- ประกาศรายงานผลการนับคะแนน ส.ส. หน้าหน่วยเลือกตั้ง
- เว็บไซต์แสดงผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ www.ectreport.com
- สื่อมวลชนที่เชื่อมโยงข้อมูลจาก สวข.
- ศูนย์แถลงข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หลังปิดหีบในวัน 14 พฤษภาคมนี้ด้วย
คะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง)
1. มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต เขตละ 1 คน ใช้รูปแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้เพียงคนละ 1 เสียง หรือ 1 คะแนน หรือจะไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลยก็ได้
2. ผู้สมัครที่รับคะแนนสูงสุด และมีคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนโหวตโนหรือไม่เลือกผู้สมัครใดเลย ถือเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งในเขตนั้น แต่หากผู้สมัครได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีจับสลากต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต
วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
1. ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
2. ให้นำคะแนนรวมจาก ข้อ 1 หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
3. ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับหารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม ข้อ 2 ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
4. ในกรณีที่จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็มและพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณตามข้อ 3 พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน
5. ในการดำเนินการตามข้อ 4 ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากัน และจะทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากัน จับสลากตามวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน และให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองตามจำนวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคำนวณได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นจนครบจำนวน แต่ต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างการคำนวณโดยอ้างอิงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีผลคะแนนรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 35,561,556 คะแนน เมื่อนำมาหารด้วย 100 จะเท่ากับ 355,615.56 คะแนน ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
ตัวอย่างผลเลือกตั้งปี 2562 (ข้อมูลจาก กกต.)
- พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนเสียง 8,441,274 เมื่อนำมาหารกับ 355,615.56 ผลลัพธ์คือ 23.7 ซึ่งต้องนับเฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23 คน
- พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียง 7,881,006 ผลลัพธ์คือ 22.1 นับเฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 22 คน
- พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนเสียง 6,330,617 ผลลัพธ์คือ 17.8 นับเฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17 คน
สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. อย่าลืมตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนเข้าคูหา (คลิกตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง 2566) เพื่อจะได้เดินทางไปถูกจุดและไม่เป็นการเสียเวลาลงคะแนนเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ และหลังปิดหีบคอยลุ้นการนับคะแนนเลือกตั้ง 2566 ไปพร้อมๆ ซึ่ง กกต. คาดการณ์ว่าจะรายงานคะแนนชุดแรกในเวลา 18.45 น. เป็นต้นไป และจะทราบคะแนนทั้งหมดไม่เกิน 23.00 น. ของวันเลือกตั้ง ทางด้านไทยรัฐร่วมรายงานผลคะแนนด้วย (ติดตามไทยรัฐรายงานผลเลือกตั้ง 2566)
...