เลือกตั้ง 2566 มีข้อควรรู้อะไรบ้างที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรรู้ก่อนออกไปใช้สิทธิของตนเองในวันที่ 14 พ.ค. 2566

เลือกตั้ง 2566 เป็นวันที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงของตนเองเลือกผู้สมัคร ส.ส. และเลือกพรรคที่ตนเองชอบได้อย่างเสรี โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2566 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง, มีสัญชาติไทย, หากแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี, มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเลือกตั้ง ต่อไปนี้ คือ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช, ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง, ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และวิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนของการเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 อีกส่วนหนึ่งที่ควรรู้ก่อนไปเลือกตั้ง มีดังต่อไปนี้

1. เลือกตั้ง 2566 ใช้บัตรอะไรได้บ้าง

  • บัตรประชาชนตัวจริง (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานรัฐออกให้ มีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาขน เช่น ใบขับขี่, บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

2. เลือกตั้ง 2566 วันไหน

  • วันที่ 7 พฤษภาคม 2566: เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเดินทางไปใช้สิทธิตามหน่วยเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้า
  • วันที่ 14 พฤษภาคม 2566: เป็นวันเลือกตั้ง 2566 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเดินทางไปใช้สิทธิในเขตพื้นที่ที่ตนเองมีรายชื่อตามทะเบียนบ้าน

3. เลือกตั้ง 2566 กี่โมง

...

  • ทั้งวันที่ 7 และ 14 พฤษภาคม 2566 มีกำหนดเวลาเลือกตั้งตั้งแต่ 08.00-17.00 น. 
ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง อย่าลืมเช็กสิทธิเลือกตั้งของตนเอง และตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. และหมายเลขพรรคที่ต้องการเลือกให้ถูกต้อง
ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง อย่าลืมเช็กสิทธิเลือกตั้งของตนเอง และตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. และหมายเลขพรรคที่ต้องการเลือกให้ถูกต้อง

4. วันเลือกตั้ง 2566 ห้ามทำอะไรบ้าง

  • ห้ามไม่ให้ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง: ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น. ไปจนถึง 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น. หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 147)
  • ห้ามพนันขันต่อผลการเลือกตั้ง: หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น (มาตรา 148)
  • ห้ามเปิดเผยโพลสำรวจความเห็นช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง: จนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน (7 พฤษภาคม 2566 ถึง 14 พฤษภาคม 2566) หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ห้ามซื้อสิทธิ-ขายเสียง: หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158 - มาตรา 159)
  • ห้ามจัดรถเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง เพื่อจูงใจ-ควบคุมให้เลือกผู้สมัคร ส.ส. คนใด: หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158) ยกเว้นกรณีที่จัดยานพาหนะฟรีไม่เสียค่าโดยสาร เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป-กลับจากหน่วยเลือกตั้งได้ตามปกติ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดก็สามารถทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง เช่น พาเพื่อนบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงไปรถคันเดียวกัน โดยไม่ได้จูงใจหรือควบคุมให้ลงคะแนนเสียงผู้สมัคร ส.ส. คนไหน รวมถึงกรณีที่หน่วยงานรัฐจัดยานยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิ ตามที่ กกต. กำหนด กรณีนี้สามารถทำได้ปกติไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
  • ห้ามผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เอาบัตรประชาชนของคนอื่นหรือปลอมแปลง ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง: หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 158)
  • ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งที่รับจากเจ้าหน้าที่: เช่น บัตรปลอม บัตรที่พิมพ์มาเอง หรือได้มาจากคนอื่น ใช้ไม่ได้ หากฝ่าฝีนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 163)
  • ห้ามนำบัตรเลือกตั้ง ออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง: หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่ง 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี (มาตรา 164)
  • ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว: หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165)
  • ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้วให้คนอื่นเพื่อให้ทราบว่าเลือกใคร: หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 165)
  • ห้ามขัดขวาง-หน่วยเหนี่ยว ไม่ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง: ซึ่งระวางโทษที่ลงแก่ผู้ที่ขัดขวางนี้ มีโทษจําคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 10 ปี (มาตรา 164)
  • ห้ามนายจ้าง ขัดขวางไม่ให้ลูกจ้างไปเลือกตั้ง: โดยมีโทษถึงจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 142)

5. เลือกตั้ง 2566 กาบัตรกี่ใบ อะไรบ้าง

  • บัตรเลือกตั้งที่จะใช้สำหรับการเลือกตั้ง 2566 มีทั้งหมด 2 ใบ: คือบัตรสีม่วงและสีเขียว
  • บัตรเลือกตั้งสีม่วง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (เลือกเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.): บัตรใบนี้จะมีหมายเลขผู้สมัครและช่องกากบาทให้เราเลือกกา แต่จะไม่มีสัญลักษณ์พรรคการเมืองและชื่อผู้สมัครปรากฏบนบัตร ต้องเช็กให้ดีว่าผู้สมัครในเขตที่เราต้องการเลือกนั้นหมายเลขอะไร
  • บัตรเลือกตั้งสีเขียว ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (เลือกเบอร์พรรคการเมือง): บัตรใบนี้จะหมายเลข สัญลักษณ์ และชื่อพรรคการเมืองปรากฏอยู่บนบัตร

6. เลือกตั้ง 2566 ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เสียสิทธิอะไรบ้าง

  • ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
  • ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  • ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
  • ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อมูลอ้างอิง: iLaw, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)