“สุพัฒนพงษ์” ชี้แจงละเอียดโครงการไฟฟ้าโซลาร์ หวั่นประชาชนเข้าใจผิด หลัง “ธีระชัย” แสดงความเห็น ชี้ คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องรับภาระแทนผู้มีรายได้สูงที่ใช้ไฟฟ้าเยอะและติดตั้ง Solar Rooftop ได้
วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล หลังแสดงความเห็นเรื่องไฟฟ้าโซลาร์ โดยเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่ครบถ้วนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
นายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ เป็นการทยอยรับซื้อในระยะเวลา 6 ปีตั้งแต่ปี 2567-2573 เป็นพลังงานสะอาด ราคาถูก ไม่มีค่าพร้อมจ่าย มีราคารับซื้อเพียง 2.0724-3.1014 บาท/หน่วย ช่วยทำให้ค่าไฟของประเทศถูกลง เพราะไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวนด้านราคาสูงที่เป็นสาเหตุให้ค่าไฟแพงในตอนนี้ และพลังงานหมุนเวียนที่รับซื้อ 8,900 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตพึ่งได้เพียง 3,700 เมกะวัตต์ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนไม่สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง เหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม กลางคืนผลิตไม่ได้ หรือไฟฟ้าพลังลม ถ้าลมไม่พัดก็ผลิตไม่ได้
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2567-2573 จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลขนาดใหญ่ที่มีค่าพร้อมจ่ายหมดอายุถูกปลดออกจากระบบ คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 9,800 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ ที่มีกำลังการผลิตพี่งได้ 3,700 เมกะวัตต์ เป็นการทดแทนโรงไฟฟ้าฟอสซิลดังกล่าว อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเป็นความจำเป็นของประเทศที่จะต้องเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อดึงดูดการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
...
“ความเข้าใจผิดในเรื่องการซื้อไฟจาก Solar Rooftop และ Solar Farm รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองมานานแล้ว กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้กลับคืนเข้าระบบในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Farm เอกชนรอบล่าสุดที่กำหนดไว้ที่ 2.1679 บาทต่อหน่วย ปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อของ Solar Rooftop กับ Solar Farm เป็นคนละส่วนกัน ไม่ทับซ้อน ไม่แข่งขันกัน แต่ทั้ง 2 ส่วนช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหมือนกัน”
นายสุพัฒนพงษ์ เผยต่อไปว่า อย่าผลักต้นทุนไฟ Rooftop ไปให้ผู้ใช้ไฟ 22 ล้านครัวเรือน การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering เป็นเรื่องใหม่ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่สามารถทำได้ทันทีทั่วประเทศ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทั้งในเชิงความเป็นธรรมของผู้ใช้ไฟฟ้า กฎหมาย และเทคนิค ดังนี้
1. การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย อัตราค่าไฟฟ้าที่ครัวเรือนขายออกมา (ราคาขายส่ง) จะต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจัดหาให้ครัวเรือนเสมอ (ราคาขายปลีก) ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Net Metering จะถูกกระจายลงค่าไฟในที่สุด ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากจะได้เปรียบครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยเกิดความไม่เป็นธรรม
2. การผลิตไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบ จะส่งผลกระทบให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุล เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจาก Solar มีความผันผวน หากมีการติดตั้ง Solar Rooftop ปริมาณมากกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า จะเป็นผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย จึงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ป้องกันใหม่ และเพิ่มขีดจำกัดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในหม้อแปลงจำหน่ายลูกเดียวกัน เพื่อรองรับไฟฟ้าที่จะไหลย้อนเข้าสู่ระบบปริมาณมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบจะถูกส่งผ่านไปยังค่าไฟ ทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น
“ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในข้อ 1 และข้อ 2 ประชาชนทุกคนจะต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่ก็ตาม ทำให้ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 500 หน่วยต่อเดือน กว่า 22 ล้านครัวเรือน (90% ของผู้ใช้ไฟ) ต้องมารับภาระแทนผู้มีรายได้สูง 2 ล้านครัวเรือน (10%) ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะและสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ได้”
3. การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะเกิดภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งการซื้อและฝั่งการขาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น
4. ผู้ผลิตไฟจาก Solar Rooftop จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น Digital Meter ให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้า และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม.