“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ตรวจจุดติดตั้งกล้อง CCTV ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า เผย มีลิงก์ให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ รอเพียง กกต. อนุมัติ ย้ำ เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต กาเสร็จแล้วต้องใส่ซองปิดผนึก
วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมจุดติดตั้งกล้อง CCTV ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ศูนย์กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า จากนั้นกล่าวว่า วันนี้มาดูการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งทั้งกรุงเทพมหานครมีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 800,000 คน โดยหน่วยเลือกตั้งที่จะมีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดคือ หน่วยเลือกมหาวิทยารามคำแหง เขตบางกะปิ ประมาณ 52,000 คน ภาพรวมมีความพร้อมทุกจุด มีล่าช้าเล็กน้อยที่เขตปทุมวันเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่ของเอกชน ขณะนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต
สำหรับขั้นตอนการหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน กล่าวว่า การเลือกตั้งจะมี 2 ประเภท คือ การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ซึ่งประชาชนต้องตรวจสอบสิทธิและไปที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนเองมีชื่ออยู่ (ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)
...
เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต
ผู้เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเมื่อไปลงคะแนนประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ 1. บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (สีม่วง) มีหมายเลขผู้สมัครโดยไม่มีชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรค 2. บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) มีสัญลักษณ์หรือ เครื่องหมายของพรรคการเมืองและมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง พร้อมกับซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้ง เมื่อลงคะแนนเรียบร้อยแล้วต้องนำบัตรทั้ง 2 ใบใส่ในซอง จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ลงชื่อกำกับ ปิดเทปใส แล้วจึงนำซองไปหย่อนที่หีบบัตรด้วยตนเอง โดยหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ในเวลา 17.00 น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะเปิดหีบเพื่อทำการนับซองและส่งไปรษณีย์ไปยังเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด
เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต
ส่วนผู้เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต วิธีการขั้นตอนการเลือกตั้งเป็นเช่นเดียวกับการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต แต่หีบบัตรเลือกตั้งจะมี 2 ใบ คือ แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยเมื่อถึงเวลา 17.00 น. กปน. จะนำหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตไปเก็บไว้ที่เขตแม่จนกว่าจะมีการนับคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
ทางด้าน ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า กล่องหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต จะมีกล้อง CCTV ติดตั้งไว้ทั้ง 33 จุด และมีลิงก์ที่ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้ แต่ขณะนี้กำลังดำเนินการขออนุมัติจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทำเสริมเพิ่มเติมขึ้นมา แต่ทาง กกต. ก็ให้ความร่วมมือที่ดีมาตลอดเพื่อสร้างความโปร่งใส และขั้นตอนการเลือกตั้งต่างๆ ก็มีการซักซ้อมมาอย่างดีแล้ว
“ยืนยัน กทม. มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ทั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สำหรับในวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ที่คาดว่าจะมีพายุฝน กทม. มีการเตรียมความพร้อมชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อไปแก้ไขปัญหาในกรณีเร่งด่วนเกรณีเกิดน้ำท่วม พายุ ลมแรง”
นอกจากนี้ เรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การใส่หน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีน ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่าง ยังมีความจำเป็น ที่หน่วยเลือกตั้งก็มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และมีการทำความสะอาดปากกาอยู่สม่ำเสมอ ด้านการจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกจัดพื้นที่การจราจรทั้งพื้นที่ในและนอกสำนักงานเขตโดยเฉพาะ
ขณะที่ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า มีความมั่นใจในระบบนี้เพราะผ่านการทดสอบอยู่หลายวัน เครือข่ายที่วางไว้สามารถรองรับภารกิจการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ จากนั้น นายชัชชาติ พร้อมคณะผู้บริหาร กทม. เดินทางไปตรวจเยี่ยมความพร้อมการเตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร.
...