เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 กกต. เผยขั้นตอนการเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต กาบัตร 2 ใบแล้วต้องนำใส่ซองปิดผนึกก่อนหย่อนลงหีบ พร้อมย้ำช่องทางแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่ ข้อพึงระวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป และกำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ดังต่อไปนี้

ความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561

1. ห้ามผู้ใดขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บทบัญญัตินี้ใช้บังคับกับวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย

2. ห้ามผู้ใดเล่นหรือจัดให้เล่นการพนันขันต่อเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้เล่น 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้จัดให้มีการเล่น

3. ห้ามผู้ใดเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนการเลือกตั้งในระหว่าง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนนการเลือกตั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 - วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น.) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

...

4. ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ

ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

5. ห้ามผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตนเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ความผิดเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง

1. ห้ามผู้ใดกระทำการเพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ หน่วยเลือกตั้ง หรือไม่ให้ไปถึง ณ ที่เลือกตั้งภายในเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนน มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

2. ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งไว้แล้ว หรือแสดงบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนไว้แล้วให้ผู้อื่นทราบว่าได้ลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนน มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ความผิดเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ส.ส.

1. ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง หรือจงใจการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

2. ผู้ใดจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 2566 มีข้อปฏิบัติดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อและลําดับที่จากบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้งกลางที่ผู้มีสิทธิลงทะเบียนขอใช้สิทธิไว้ หรือตรวจสอบข้อมูลการใช้สิทธิทางแอปพลิเคชัน Smart Vote

ขั้นตอนที่ 2 ยื่นบัตรประชาชนหรือหลักฐานแสดงตนให้กรรมการประจําที่เลือกตั้งกลาง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและยืนยันตัวตน ลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 3 รับซองใส่บัตรเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (สีม่วง) และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท โดยกรรมการประจําที่เลือกตั้งกลางลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมลงรายการเกี่ยวกับจังหวัด เขตเลือกตั้งและรหัสเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส. 5/2)

ขั้นตอนที่ 4 เข้าคูหาลงคะแนน ทําเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทําเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ โดยเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้เพียงบัตรละหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดเลย ให้ทําเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใด หรือไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

ขั้นตอนที่ 5 เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว พับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบให้เรียบร้อย ใส่ลงในซองใส่บัตรเลือกตั้งปิดผนึกให้เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 6 นำซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ปิดผนึกเรียบร้อยส่งให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ผู้ทําหน้าที่ควบคุมหีบบัตรลงลายมือชื่อ กํากับตรงรอยต่อผนึกซอง พร้อมปิดทับรอยต่อผนึกซองด้วยเทปกาวใส เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ยื่นซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ขั้นตอนที่ 7 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนําซองใส่บัตรเลือกตั้ง ใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง


ทางด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงพื้นที่วันนี้เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดเตรียมสถานที่ออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 52,782 คน ซึ่งคณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางจะต้องดำเนินการจัดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่

นอกจากการจัดเตรียมสถานที่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก่อนวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 คณะอนุกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะมอบวัสดุอุปกรณ์ให้แก่คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง ดังต่อไปนี้

1. หีบบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ สำหรับหย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้ง
2. บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (แบบบัญชีรายชื่อสีเขียวและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งสีม่วง)
3. ซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส. 5/2)
4. บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 2 ชุด (ส.ส. 1/4)
5. วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเลือกตั้ง
6. สมุดแบบพิมพ์ประจำที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งขอยกเลิกในวันและเวลาที่กำหนด จะต้องใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เท่านั้น หากไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 และวันเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ช่วงก่อนเลือกตั้ง คือวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566 และหลังเลือกตั้ง คือวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2566

1. ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทน ต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำหนังสือแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน

2. จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ถึงนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น

3. แจ้งผ่านเว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (คลิกแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง) หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์

เหตุอันสมควรที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ มีดังนี้

(1) มีกิจธุระจำเป็นเรงด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
(2) เจ็บป่วยและไม่สามารถดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
(3) เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
(4) เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและมิได้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้ง
(5) มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
(6) มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ได้รับการแจ้งเหตุแล้วเห็นว่าเหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้แจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งว่าเหตุที่แจ้งนั้นมิใช่เหตุผลอันสมควร มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง.