ศาลฎีกาฯ นักการเมือง พิพากษาจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา "อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์" คดีทุจริตฯ เรียกรับเงินสินบน 5 ล้าน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แลกผ่านงบประมาณ เจ้าตัวยื่นประกันตัวสู้ชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลอ่านคําพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2565 คดีหมายเลขที่ อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีตส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย 

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 โจทก์ยื่นฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่ง ส.ส., กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกมธ.วิสามัญดังกล่าว วันที่ 4 ส.ค. 2563 จำเลยได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172, 173 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 จำเลยให้การปฏิเสธ

วันนี้จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่าโจทก์มีนายศักดาเป็นประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเรื่องที่จําเลยโทรศัพท์มาพูดเรียกเงินและของานจากนายศักดิ์ดา แต่จําเลยเบิกความปฏิเสธ คำเบิกความของ นายศักดิ์ดา และคำเบิกความของจำเลยมีลักษณะโต้แย้งยืนกันอยู่ จึงต้องพิจารณาพยานพฤติเหตุแวดล้อมประกอบกัน จำเลยไม่ได้ซักถามเรื่องงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในฐานะอนุกรรมาธิการ

...

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่าโจทก์มี นายศักดิ์ดา เป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็น ตามปกติทั่วไป จำเลยเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คนที่หนึ่ง

หากจําเลยต้องการเอกสารแบบแปลนและประมาณราคา สามารถมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการดำเนินการให้ได้ ไม่มีความจําเป็นต้องโทรศัพท์ติดต่อกับนายศักดิ์ดาด้วยตนเอง โดยไม่มีบุคคลอื่นได้ยินข้อความสนทนา ทั้งถ้อยคำที่จำเลยพูดคุยกับนายศักดิ์ดายังเกี่ยวพันไปถึงการขอเข้าเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลย หลังเกิดเหตุ นายศักดิ์ดาเล่าให้ นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และ นายสุรินทร์ วรกิจธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบาดาลฟังใน คืนเกิดเหตุทันที และวันรุ่งขึ้นได้เล่าให้ นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟังด้วย เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่จําเลยโทรศัพท์พูดคุยกับนายศักดิ์ดาประมาณ 15 นาที หากเพียงแค่ขอเอกสารไม่น่าจะต้องใช้เวลานานมากเพียงนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคลหลายคนจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่นายศักดิ์ดาจะคิดวางแผนสร้างเรื่องไปบอกพยานทั้งสามว่าจำเลยเรียกเงินและของาน ทั้งยังปรากฏว่า นางนันทนา สงฆ์ประชา เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 5 ติดต่อกับนายศักดิ์ดาให้โทรศัพท์ไปหาจำเลยก่อน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในวิสัยที่นายศักดิ์ดาจะวางแผนให้จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มติดต่อมาก่อน ยิ่งกว่านั้นในวันรุ่งขึ้นนายศักดิ์ดาได้พูดในที่ประชุมว่า เมื่อคืนนี้มีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งโทรไปหาผมตบทรัพย์ผม 5 ล้านบาท ซึ่งมีลักษณะเป็นการพูดโต้ตอบด้วยความอัดอั้นกดดันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน คืนเกิดเหตุโดยยังไม่ระบุชื่อจำเลยว่าเป็นผู้เรียกเงินหรือของาน หากจำเลยไม่โทรศัพท์เรียกเงินและของานก็ไม่มีเหตุที่นายศักดิ์ดาจะต้องพูดเรื่องร้ายแรงเช่นนี้ในที่ประชุม หลังจากนั้นในช่วงบ่ายจำเลยก็ไม่เข้าประชุมอีก นอกจากนี้จำเลยยังโทรศัพท์ไปพูดกับนายภาดล ซึ่งเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกับที่จำเลยพูดกับนายศักดิ์ดาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

นายศักดิ์ดาและนายภาดลต่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ต้องไปชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณต่อคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ที่มีจำเลยเป็นรองประธานในวันรุ่งขึ้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่าจำเลยโทรศัพท์ไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์จากโครงการที่จำเลยกำลังมีส่วนในการพิจารณางบประมาณดังที่นายศักดิ์ดาและนายภาดลเบิกความ

คำเบิกความของนายศักดิ์ดาจึงมีเหตุผลและสอดคล้องเชื่อมโยงกับพยานอื่นทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานที่ไต่สวนมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทําตามข้อกล่าวหาในฟ้องจริง จำเลยเป็นส.ส. กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าพนักงานของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

จำเลยในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ย่อมมีอำนาจ หน้าที่เสนอความเห็นตามกรอบแนวทางการพิจารณา รวมถึงสามารถเสนอความเห็นในการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาลง มติเห็นชอบและเสนอคณะ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาต่อไป แม้จำเลยเพียงคนเดียวจะไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการปรับลดงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดังที่จำเลยอ้าง เพราะผลการพิจารณาต้อง เป็นไปตามมติที่ประชุมก็ตาม แต่การเสนอความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลย ซึ่งจําเลยอาจเสนอความเห็นให้คุณหรือให้โทษแก่งบประมาณของหน่วยราชการที่พิจารณา

การที่จําเลยโทรศัพท์ไปเรียกเงินและของานจากนายศักดิ์ดา ย่อมเป็นการกระทําในตำแหน่งและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยโดยตรง การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับจําเลยโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมทรัพยากร ความผิดตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 น้ำบาดาล และราชการ มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จําต้องปรับบทความผิด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง

อนึ่ง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก จำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ย่อมมีผลให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กับให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่เนื่องจากในคดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2566 ของศาลฎีกา ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน (จำเลยคดีนี้) มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 6 ม.ค. 66 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ซึ่งการกระทำในคดีดังกล่าวเป็นการกระทำเดียวกันกับคดีนี้ จึงเห็นสมควรไม่สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยในคดีนี้อีก

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 173 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ลงโทษจำคุก 6 ปี กับให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 19 เม.ย. 65 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

โดยภายหลังศาลมีคำพิพากษา นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์.