วันนี้ “ค่าไฟฟ้า” กำลังกลายเป็น “ภาระ” ของคนไทยทั้งประเทศ จากการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทำให้ราคาไฟฟ้าถูกบิดเบือนให้แพงขึ้น ไม่ใช่ก๊าซแพงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากนโยบายพลังงานของ กพช.
แม้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะลดค่าไฟลงมาหน่วยละ 7 สตางค์ จาก 4.77 บาท เหลือหน่วยละ 4.70 บาท ก็ไม่ได้ทำให้ค่าไฟถูกลง ไม่ได้ลดให้ฟรีด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ได้บวกเป็นค่าหนี้ไฟที่จ่ายยาวขึ้นอีก 4 เดือนไว้แล้ว
สำนักข่าวบีบีซีไทย ได้เจาะลึก “เส้นทางค่าไฟแพง” มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จากค่า FT ที่เพิ่มขึ้น โดยสัมภาษณ์ คุณคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนองนโยบาย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ในอดีตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเอกชน (SPP) ไม่ได้มีมากเท่าปัจจุบัน แต่หลังปี 2558 (หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิวัติในปี 2557) ได้มีการกำหนดนโยบายพลังงานให้รับซื้อจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าส่วนนี้เป็น “สัญญาที่ต้องซื้อ (Must Take)” ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP เติบโตตั้งแต่หลังปี 2558 และถือเป็นฐานของการคิดค่าไฟฟ้า นี่คือต้นเหตุที่ค่าไฟแพงในปัจจุบัน
เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า ปี 2558 โรงไฟฟ้า SPP ยังไม่ค่อยเยอะ แต่พอปี 2565 เพิ่มจำนวนขึ้นมาเกือบเท่าตัว เนื่องจากสัญญา SPP ตามนโยบายต้องเดินเครื่อง พอเดินเครื่องปุ๊บก็ต้องไปลดโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อีกปัจจัยหนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทำให้บางช่วงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อาจไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟ (การเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทำให้ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซด้วย เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าสำรองอีกที กรณีที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เป็นการเพิ่มต้นทุนอีกเท่าตัว) ทั้งที่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
...
บีบีซีไทย ได้ตรวจสอบ ฐานข้อมูลราคาไฟฟ้าต่อหน่วยของ กฟผ.พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP ถ้าเป็น ถ่านหินราคาจะอยู่ที่หน่วยละ 1 บาทกว่าๆ ถ้าเป็น ก๊าซธรรมชาติราคาจะอยู่ราว 3.00-4.60 บาท แตกต่างกันไปแต่ละเดือนและโรงไฟฟ้า ส่วน โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก SPP ประเภทสัญญา Firm จากฐานข้อมูล กฟผ. บันทึกว่า ราคาอยู่ที่หน่วยละ 4.00-4.72 บาท
คุณคมกฤช เลขาธิการ กกพ. เปิดเผยกับบีบีซีด้วยว่า มีไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอีก 2 กลุ่ม ที่ไม่ได้นำมาคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ได้แก่ ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์ จำนวน 7,533 เมกะวัตต์ และ กลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทสัญญา Firm ขนาดใหญ่ของ กฟผ.อีก 6,961 เมกะวัตต์ รวม 14,494 เมกะวัตต์ ที่ไม่ได้นับรวมกับ กำลังการผลิตติดตั้งทั้งระบบ 48,000 เมกะวัตต์
ถ้ารวมด้วย ประเทศไทยวันนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 62,494 เมกะวัตต์ มากกว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2565 ถึง 1 เท่าตัว ค่าไฟฟ้าส่วนเกินเหล่านี้ถูกนำมาคิดเป็นค่าไฟฟ้าจากประชาชนผ่านระบบ FT ที่เอาสารพัดต้นทุนใส่เข้าไปในนั้น
โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก SPP ส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกในเครือ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ IPP ที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ต่างก็รู้ดี อยู่แก่ใจ เพราะเป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่พูดความจริง
เมื่อการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า SPP ขายให้ กฟผ.ได้แพงกว่า IPP ถึงหน่วยละ 1 บาทกว่า ดังนั้น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ IPP ก็ใช้บริษัทลูก SPP ผลิตไฟฟ้าแทน เพื่อให้มีกำไรมากขึ้น เมื่อบวกค่าก๊าซที่แพงขึ้นก็ยิ่งกำไรมากขึ้น คนจ่ายค่าไฟอ่วมคือประชาชน เรื่องซับซ้อนแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้เรื่องดีที่สุด เพราะเป็นประธานผู้กำหนดนโยบาย ทำไมไม่กล้าออกมารับผิดชอบบอกความจริงกับประชาชน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”