โทรโข่งรัฐ โต้ ปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 ยัน ได้ผลกระตุ้นการใช้จ่าย อ้าง ศก.ไทย หดตัว เพราะน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 -ปัญหา ศก.โลกชะลอตัว โดยเฉพาะยุโรป
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี กรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานส่วนใหญ่ไม่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่กลับเก็บออม เนื่องจากไม่มั่นใจอนาคตว่า นายจ้างจะยังคงจ้างงานต่อหรือไม่ว่า การที่รัฐบาลผลักดันนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล ที่มีแนวปฏิบัติชัดเจน ที่จะระดมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ทั้งการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในอนาคต การรับจำนำพืชผลการเกษตรในราคาสูง การปรับขึ้นค่าครองชีพของข้าราชการให้มีรายได้สูงขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ก็เพื่อจะกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่ง การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคแรงงานของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้ได้มีรายได้มากขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ซึ่งขณะนี้ตัวเลขที่ทางรัฐบาลประเมินอยู่ยังมั่นใจว่า เฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตามเป้า เพราะแรงงานส่วนใหญ่เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ จะถูกกระทบด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ (1) เหตุการณ์มหาอุทกภัยในปลายปี 2554 ซึ่งกระทบฐานการผลิตของประเทศอย่างรุนแรง (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป
ในขณะนี้ โดยได้มอบให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ยังให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และประเมินว่าจะมีผล กระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที.
...