พรรคประชาธิปัตย์ แถลงนโยบายรื้อโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ยกเลิกค่ากินเปล่า เอฟทีไฟฟ้า หนุนสารพัดพลังงานทางเลือก ลั่น ทำได้หากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

วันที่ 19 เม.ย. 2566 นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ ร่วมแถลงนโยบายหาเสียงด้านพลังงาน

นายเกียรติ กล่าวว่า นโยบายของพรรคด้านพลังงานหลักๆ จะเป็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ในส่วนของน้ำมันเราจะกำกับค่าการกลั่นไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดไม่เกิน 1.5 บาทต่อลิตร ทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม ทบทวนเงินเข้ากองทุน ส่วนก๊าซธรรมชาติจะต้องเฉลี่ยต้นทุนระหว่างนำเข้ากับแหล่งในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่จริงและเป็นธรรม ปฏิรูปสูตรคำนวณ วิธีการกำกับดูแลใหม่ และทบทวนสัญญาระยะยาวที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม

สำหรับเรื่องไฟฟ้า พรรคจะปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม กำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนให้เหมาะสม ซึ่งขณะนี้เรามีกำลังการผลิตสำรองถึง 50% ถือว่ามีจำนวนมาก ที่สำคัญต้องทบทวนความจำเป็นการมีค่าความผันแปร (ค่า Ft) โดยค่าดังกล่าวในโลกนี้ มีใกล้เคียงอยู่เพียง 3-4 ประเทศเท่านั้น จึงต้องการยกเลิกและมีวิธีอื่นที่ดีกว่า แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือกำกับกระทรวงพลังงานอย่างจริงจัง นอกจากนี้พรรคยังจะทบทวบสูตรคำนวณราคาก๊าซหุงต้ม ทบทวนค่าการตลาดของปั๊มก๊าซแอลเอ็นจี แอลพีจี โดยการลดค่าไฟอย่างน้อยตั้งไว้หน่วยละ 1-1.50 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าน้ำมันต้องลดลง 3-5 บาทต่อลิตร

...

นายพิสิฐ กล่าวเสริมโดยขอตั้งข้อสังเกตว่า ไทยมีโรงกลั่นน้ำมันเอง แต่เป็นของเอกชน เปิดใช้มานาน 30-40 ปี มีการคิดค่าเสื่อมราคาบวกไปในราคาน้ำมันที่ผลิตออกขาย วันนี้ต้องทบทวนใหม่ว่า ราคาที่ขายรวมค่าเสื่อมมูลค่าของโรงกลั่น คิดเพิ่มหรือเกินไปมากกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่

ขณะที่ นายอลงกรณ์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำนโยบายพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติอื่นๆ อีก โดยกำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทนร้อยละ 30 ในปี 2030 ส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น ชีวภาพ ชีวมวล พลังงานลม และอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนประชาชน เอกชน ร่วมผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น.