อธิบดีกรมวิทย์ ยัน โควิด XBB.1.16 หรือ อาร์คทูรัส พบติดเชื้อในไทยแล้ว 27 ราย ในจำนวนนี้ตาย 1 ราย ชี้ มีแนวโน้มเพิ่มจากการแพร่ได้เร็วขึ้น รอดูสิ้น เม.ย. ย้ำ การป้องกันตนเองและวัคซีนยังช่วยได้

วันที่ 18 เม.ย. 2566 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวถึงความคืบหน้ากรณีโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน XBB.1.16 (อาร์คทูรัส) ในไทย ทั้งนี้ สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5 ยังพบสูงสุดของโลก ส่วนอีก 7 สายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จับตาเฝ้าระวังได้แก่ BQ.1, BA.2.75, CH.1.1, XBB, XBB.1.16, XBB.1.9.1 และ XBF โดยในไทยมี 2 สายพันธุ์ที่น่าจับตาในช่วงวันที่ 8-14 เม.ย. 2566 คือ XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 ที่มีท่าทีว่าจะพบมากขึ้นในประเทศไทยพอสมควร ซึ่งต้องเก็บตัวอย่างในประเทศให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์ XBB.1.16 ในประเทศไทยปัจจุบัน พบแล้วจำนวน 27 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2566) ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 22 ราย และเดือนเมษายน 2566 พบเพิ่มอีก 5 ราย ซึ่งสายพันธุ์ XBB.1.16 อาจมีความสามารถในการแพร่เชื้อในระดับที่มากกว่าสายพันธุ์ย่อย XBB.1 และ XBB.1.5 มีศักยภาพการหลบภูมิคุ้มกันคล้ายกับ XBB.1 และ XBB.1.5 แต่ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น

...

นายแพทย์ศุภกิจ ระบุต่อไปว่า การตรวจด้วย ATK และ RT-PCR สามารถใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสมได้ รวมถึงสายพันธุ์ XBB.1.16 ด้วย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป ส่วนมาตรการป้องกันส่วนบุคคลด้วยการหน้ากากอนามัย ล้างมือ และฉีดวัคซีค จะช่วยลดการแพร่เชื้อและรับเชื้อ โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 พบรายงานครั้งแรกจากประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 ซึ่ง WHO จัดให้ XBB.1.16 เป็น variant under monitoring เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 โดย XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมจาก BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม

“มีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 มีลักษณะอาการทางคลินิกของโรคเยื่อบุตาอักเสบ คันตา มีขี้ตา ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์ XBB.1.16”

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุต่อไปว่า ไม่อยากให้ความสำคัญในเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อ เนื่องจากตรวจมากก็เจอมาก ตรวจน้อยก็เจอน้อย แต่ให้ดูสัดส่วน แนวโน้ม น่าจะมีประโยชน์มากกว่า ซึ่งจะมีการเปิดตรวจให้มากขึ้น โดยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ XBB.1.16 จำนวน 27 ราย มี 1 รายเสียชีวิต เป็นชาวต่างประเทศที่มีอายุประมาณ 85 ปี อาจจะมีโรคประจำตัวหลายโรคร่วมด้วย พร้อมย้ำเรื่องความรุนแรงแรงว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อนี้แล้วจะเสียชีวิต รวมถึงแนะให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เกิน 3 เดือน หรือติดเชื้อโควิด-19 เกิน 3 เดือน เข้ารับวัคซีน

ทางด้าน นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า ไม่จำเป็นต้องตระหนกหรือตกใจกับสายพันธุ์ XBB.1.16 โดยมีรายงานล่าสุดของประเทศอินเดีย (ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566) ย้ำว่า อาการของสายพันธุ์อาร์คทูรัส คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ส่วนเอาการเยื่อบุตาอักเสบจะพบมากในเด็ก และยังมีไข้ ซึ่งการฉีดวัคซีนยังได้ผลดี ส่วนการเพิ่มกำลังในการเฝ้าระวังสายพันธุ์จะให้โรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งส่งตัวอย่างมาที่ศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ทั่วประเทศ ขั้นต่ำ 5 ตัวอย่างต่อโรงพยาบาล หากเป็นไปตามนี้จะได้ตัวอย่างเข้ามาที่ส่วนกลางประมาณ 700 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ เพียงพอในการตรวจหาสายพันธุ์ โดยตัวอย่างมาจากทั้ง เสียชีวิต, มีอาการรุนแรง, ชาวต่างชาติ, บุคลากรทางการแพทย์, กลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง, การแพร่ระบาดในกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย

ผู้สื่อข่าวถามในช่วงท้ายว่าการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 ของไทยเป็นการติดในประเทศหรือจากต่างประเทศ นายแพทย์ศุภกิจ ตอบว่า มีทั้งติดในประเทศและจากต่างประเทศ ในจำนวน 27 ราย มีเดินทางมาจากอินเดีย 1 ราย ซึ่งการตรวจสายพันธุ์ต้องทำเป็นรอบๆ หากเก็บมามากขึ้น ตรวจมากขึ้น จะเห็นภาพรวมทั้งเดือนชัดเจนอีกทีในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้