นับเป็นความท้าทาย เมื่อ “ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” สำหรับหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุ มากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรไทย ที่ส่วนใหญ่อยู่ได้ ด้วยเบี้ยยังชีพ เป็นแหล่งรายได้หลัก แล้วยังมีแนวโน้มขยายตัวอีก 9 ปีข้างหน้าจะสูงถึงร้อยละ 28 ด้วยซ้ำ
แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจยุคนี้ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท” แทบไม่พอยังชีพได้จริง “ผู้สูงอายุไม่น้อยขาดหลักประกันรายได้” ต้องดิ้นรนออกมาทำงานหาเงินเลี้ยงชีพใช้ชีวิตอย่างด้อยคุณภาพ
เมื่อเร็วๆนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และไทยพีบีเอส จัดแถลงข่าวร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้าสู่นโยบายสำคัญของพรรคการเมือง เพื่อผลักดันให้มีนโยบายการสร้างความมั่นคง ทางด้านรายได้ของผู้สูงวัย หรือบำนาญประชาชน ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า
จริงๆแล้ว “การจัดสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้า” ไม่ใช่เฉพาะภาคประชาสังคมเท่านั้นที่ต้องการให้เกิดขึ้น แม้แต่ “นักวิชาการต่างก็เห็นด้วยเหมือนกัน” เพียงกังวลเรื่องงบประมาณที่จะถูกนำมาใช้นั้น แล้วก่อนหน้านี้ “นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ” เคยเสนอกลไกแหล่งรายได้สามารถนำมาใช้จ่ายทำบำนาญถ้วนหน้าได้
...
ทว่า ส่วน “ฝ่ายการเมือง” ก็เห็นชอบรายงานการศึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคมเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอนำเข้า ครม.พิจารณาแล้วถ้าทำโหวตทั่วประเทศน่าจะมีผู้สนับสนุนท่วมท้นเช่นกัน เพราะเป็นการคุ้มครองความยากจนของคนเดือดร้อนจริง
ประเด็นสำคัญ “ข้าราชการไทยไม่น้อย” ต่างก็มีความเห็นชอบกับบำนาญถ้วนหน้าให้แก่ “ประชาชน” เพราะมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนสำหรับคุณภาพชีวิตของมนุษย์นั้นเพียงแต่เสียงที่ออก “หน่วยงานภาครัฐยังไม่ชัดเจน” สาเหตุจากประเทศไทยยังไม่ได้มีกลไกของการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เพราะหากเสียงประชาชนมีความหมาย “ข้าราชการ” ต้องตอบสนองผ่าน “รัฐมนตรี” ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ขอสนับสนุน “ประชาชนรวมพลังกันเทคะแนนเสียงแก่พรรคการเมืองมีนโยบายบำนาญถ้วนหน้า” เพื่อให้ชนะเสียง 250 ส.ว. เพราะอย่าลืมว่า “ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ” ถ้าไม่ชนะเสียงนี้เราต้องรออีก 4 ปี
ความจริงแล้ว “เรื่องบำนาญถ้วนหน้า” พูดคุยกันในแวดวงวิชาการมาตั้งแต่ปี 2552 แต่เจออุปสรรคติดขัดส่วนหนึ่งมาจาก “ข้าราชการคัดค้าน” เพราะกังวลเกรงว่า “บำนาญตัวเองจะถูกปรับลดลง” ทั้งที่เรื่องบำนาญถ้วนหน้าจะ “ไม่ไปแตะบำนาญข้าราชการด้วยซ้ำ” เพียงแต่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลงเท่านั้น
ตอกย้ำทราบกันดีว่า “ข้าราชการมีบำนาญมากกว่าเอกชนผู้ที่ต้องจ่ายประกันสังคมด้วยซ้ำไป” แล้วระบบสาธารณสุขต่างรู้ดีว่า “ค่าใช้จ่ายพยาบาลของข้าราชการ” ค่อนข้างสูงกว่าบัตรสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ควรต้องเพิ่มรายได้ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือเพิ่มบำนาญให้ประชาชนทุกคนได้หรือไม่...?
ย้ำภาพความจริง “ประเทศไทย” มีผู้ร่ำรวยอยู่ยอดพีระมิด 50ตระกูลแล้วใน 10 ปีมานี้ “รวยขึ้นปีละ 30% คิดเป็น 1 ใน 3 จีดีพี” อย่างโควิด-19 ระบาด “คนไทยกระอักเลือดกัน” แต่มีหนึ่งตระกูลรวยขึ้นแสนล้านบาท
ถัดมาไม่เท่านั้น “อีอีซี” ถูกสร้างขึ้นด้วยการนำเงินภาษีประชาชน “แต่ผลลัพธ์กลับยกเว้นภาษีให้นักลงทุนต่างชาติ 8 ปี” ในส่วน “ธุรกิจ SME แทบไม่ได้รับยกเว้นภาษีนั้น” ดังนั้น ถ้าต้องการให้บำนาญเกิดขึ้นจริง “รัฐบาล” ต้องจัดสรรงบค่าใช้จ่ายทั้งหมดใหม่ “ด้วยการปฏิรูปงบประมาณ” เช่น ยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวย
โดยเฉพาะ “กลุ่มเจ้าสัว” ที่ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ปีละแสนล้านบาท แต่ธุรกิจ SME กลับไม่ได้รับลดหย่อนภาษีแม้แต่น้อย ฉะนั้น ควรใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือทางการคลังจัดสรรทรัพยากรและการเก็บภาษีให้มากขึ้น
ตามที่มีโอกาสร่วมขับเคลื่อน “บำนาญถ้วนหน้า” เคยศึกษาตัวเลขการให้เงินบำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3 พันบาท/คน “ยังน้อยกว่าการใช้งบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการในระยะยาวอยู่มาก” แล้วคำนวณต่ออีกก็พบว่าบำนาญประชาชนสามารถขึ้นไปได้ถึง 6 พันบาท โดยคนอยากได้มากกว่า 3 พันบาทต้องจ่ายออมเอง
แล้วรัฐบาลจะช่วยสมทบส่วนที่เหลือ “อันเป็นแนวคิดของประเทศพัฒนา” อย่างญี่ปุ่น ยุโรป ที่ทำกันอยู่ปัจจุบันนี้แล้วยิ่งกว่านั้น “แม้จัดทำบำนาญถ้วนหน้าระยะยาว” ก็ยังใช้เงินน้อยกว่าบำนาญข้าราชการเช่นเดิม
และคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นบำนาญถ้วนหน้า...?” เพราะการบริหารจัดการง่ายก้าวข้าม “ระบบการพิสูจน์ตรวจคุณสมบัติของคนจน” มีโอกาสเกิดการตกหล่นน้อยมากๆสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริง
คำถามมีต่อว่า “จะเอาเงินมาจากไหน...?” เรื่องนี้ย้อนดูนโยบายพรรคการเมืองเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีการเสนอแนวทางการใช้เงินหลากหลาย “แต่เสียดายโครงการไม่อาจเกิดได้จริง” ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ก็มีพรรคเสนอนโยบายบำนาญ 3 พันบาทแล้ว แต่พรรคก้าวไกลแจงรายละเอียดแหล่งเงินจะนำมาใช้ชัดเจนที่สุด
“ขอฝากสื่อสารถึงพรรคการเมืองอยากได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากๆ ที่นำนโยบายบำนาญถ้วนหน้ามาใช้หาเสียงนั้นช่วยกรุณาอย่าขายฝันแบบลอยๆ ว่าจะให้บำนาญเดือนละเท่านั้นเท่านี้ สุดท้ายพอมาเป็นรัฐบาลเรื่องก็เงียบหายไปเฉยๆ ฉะนั้น เมื่อหาเสียงไว้อยากให้มีแนวทางจัดการงบให้สามารถทำได้จริงๆ” ดร.ทีปกรว่า
นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการบอกว่า กรณีเรื่องบำนาญถ้วนหน้าไม่คืบหน้านั้นมาจาก “ประเทศไทย” ถูกครอบงำโดยรัฐราชการ หรือรัฐเผด็จการ “ผู้ซึ่งกุมอำนาจยังไม่พร้อมกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม” แม้ผู้เข้าสู่วัยสูงอายุกว่า 20% เรียกร้องเพราะต้องเผชิญความยากจนไม่มีเงินออมก็ตาม
จนสถานการณ์ “สุกงอม” จำเป็นต้องมีสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้าเข้ามาช่วยให้มีรายได้ “ก็ไม่สามารถทำได้” แม้ว่ามีการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว “แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย” เพราะกลไกรัฐราชการหรือรัฐเผด็จการยังสืบทอดอำนาจควบคุมต่อเนื่องเช่นเดิม สิ่งนี้ล้วนเป็นอุปสรรคทำให้การขับเคลื่อนบำนาญถ้วนหน้าไม่สำเร็จนี้
ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อไป “ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแลนด์สไลด์” บำนาญถ้วนหน้าน่าจะเกิดได้ไม่ยาก สังเกตจากคณะกรรมาธิการฯเสนอรายงานการศึกษาการแก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญ 3,000 บาท
ปรากฏว่า “ส.ส.ทุกพรรคขึ้นอภิปราย 30 คนล้วนเห็นชอบทั้งสิ้น” กระทั่งสภาฯลงมติเห็นชอบการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เช่น การแก้ ม.9 นิยามเป็นบำนาญแห่งชาติ และ ม.11 หลักการใช้เงินงบประมาณ
แต่เมื่อเข้า “ครม.แล้วไม่หยิบยกพิจารณาทุกอย่างก็จบ” ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ทุกวันนี้
เหตุนี้ “ภาคประชาชน” ได้สร้างเครือข่ายทั่วประเทศทำความเข้าใจ “หลักการผลักแก้กฎหมาย หรือชี้แจงการมีบำนาญถ้วนหน้า” จนประชาชนตื่นตัวขยายเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ ด้วยการใช้จังหวะใกล้เลือกตั้งจัดแคมเปญรณรงค์ “ขึ้นป้ายไวนิลกระจายทุกพื้นที่” เพื่อหาพรรคการเมืองพร้อมจะทำบำนาญถ้วนหน้า
แล้วการขับเคลื่อนผลักดัน “นโยบายบำนาญถ้วนหน้า” จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงจะมีเครือข่ายเข้าตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองมีนโยบายบำนาญถ้วนหน้าหรือไม่ด้วย
ถ้าเป็นไปได้ก็จะร่อนจดหมายถามไปถึงพรรคการเมืองว่า “มีนโยบายบำนาญถ้วนหน้านี้หรือไม่” แล้วเครือข่ายภาคประชาชนจะทำหน้าที่ฉายภาพว่า “พรรคใดมีหรือไม่มี” นอกจากนี้ ยังให้ประชาชนทบทวนถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้วว่า “พรรคใดมีนโยบายบำนาญถ้วนหน้าหาเสียง” แต่กลับไม่ทำหรือพยายามจะทำตามนั้นเพียงใด
หากไม่ทำแล้วเราจะปล่อยให้เขาหลอกอีกหรือไม่ สิ่งนี้จะเป็นหลักองค์ประกอบในการพิจารณาเข้าคูหา “เลือกพรรคที่มีนโยบายทำบำนาญถ้วนหน้า” เพื่อมิใช่เป็นการขายฝันนโยบายให้ประชาชนอีกต่อไป
นี่คือประเด็นใหญ่ “ในการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า” เพื่อวัตถุประสงค์ต่อการคุ้มครองคนจนแล้วยังจะเป็นโอกาสสำคัญที่ “ประเทศไทย” จะแก้ปัญหารากฐานของความเหลื่อมล้ำนี้ได้.